การเรียนรู้แบบบูรณาการ.

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวดที่ 4 มาตรา 23 กำหนดไว้ว่า “การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมในแต่ละระดับการศึกษา และใน มาตรา 24(4) ได้กำหนดไว้ว่า“ การจัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา “
การบูรณาการ หมายถึง การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงศาสตร์ หรือเนื้อหาสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความรู้ที่มีความหมาย มีความหลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิติประจำวัน

สาเหตุที่จะต้องบูรณาการหลักสูตรและการเรียนการสอน มีดังนี้
1. วิถีชีวิตจริงของคนเรามีเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ได้แยกออกจากกันเป็นเรื่อง ๆ
2. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและเรียนรู้อย่างมีความหมาย เมื่อมีการบูรณาการเข้ากับชีวิตจริงโดยเรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัวแล้วขยายกว้างไกลตัวออกไป
3. การขยายตัวของความรู้ในปัจจุบัน ขยายไปอย่างรวดเร็วมาก มีเรื่องใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกสาระที่สำคัญและจำเป็นให้ผู้เรียนในเวลาที่เท่าเดิม
4. ไม่มีหลักสูตรวิชาใดเพียงวิชาเดียวที่สำเร็จรูป และ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้
5. เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกัน หรือเกี่ยวข้องกัน ควรนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้ผู้เรียนรู้อย่างมีความหมาย ลดความซ้ำซ้อนเชิงเนื้อหาวิชา ลดเวลา แบ่งเบาภาระของครูผู้สอน
6. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด ความสามารถ และทักษะที่หลากหลาย

อ้างอิงข้อมูลมาจาก
http://www.atts.rtaf.mi.th/MyWebSQA3/index/my%20document/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A349.htm

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ เมื่อผู้สอนสามารถกำหนดเรื่อง และสร้างเครือข่ายของเรื่องที่โยงความสัมพันธ์และหลอมรวมจุดประสงค์ ให้เป็นเรื่องที่สมบูรณ์ หรือ บางท่านอาจเรียกว่าหนึ่ง หน่วยการเรียน (thematic units) ผู้สอนจะต้องออกแบบการสอนที่เหมาะสมกับเรื่องดังกล่าว ไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า เทคนิคการสอนใดเหมาะสมที่สุด ผู้สอนแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน มีวิธีสอนหรือเทคนิคการสอนให้ท่านได้ศึกษามากมาย เช่น Storyline Method,
การเรียนรู้โดยโครงงาน, การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การเรียนรู้แบบมายา ฯลฯ ไม่ว่าจะบูรณาการแบบใดก็ตาม ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จะต้องสอดคล้องกับมาตรา 24 พ.ร.บ. การศึกษา
แห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ จะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ ดังนี้
1. การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้นมีส่วนร่วมในกระบวนการาจัดการเรียนการสอน
2. การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ร่วมทำงานกลุ่มด้วยตนเอง โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมกลุ่มลักษณะต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง
3. การจัดประสบการณ์ตรงให้แก่
ผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย ตรงกับความเป็นจริง สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างได้ผล และส่งเสริมให้มีโอกาสได้ปฏิบัติจริงจนเกิดความสามารถและทักษะจนติดเป็นนิสัย
4. การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกกล้าคิดกล้าทำ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาส ที่จะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกนึกคิดของตนเองต่อสาธารณชน หรือ เพื่อนร่วมชั้นเรียน ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน
5. การปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยม และจริยธรรม ที่ถูกต้องดีงาม ให้ผู้เรียนสามารถจำแนกแยกแยะความถูกต้องดีงาม และความเหมาะสมได้ สามารถขจัดความขัดแย้งได้ด้วยเหตุผล มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา และสามัคคี
การปฏิบัติจริงตามสไตล์ของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันก็ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น ตัวผู้เรียน สถานที่ เนื้อหา กิจกรรม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุด ใคร่ขอเสนอแนะไว้ คือ การศึกษา และวิเคราะห์หลักสูตร ซึ่งเป็นบันไดขั้นต้นที่จะนำไปสู่การเรียนรู้แบบบูรณาการ

อ้างอิงข้อมูลมาจาก
http://www.atts.rtaf.mi.th/MyWebSQA3/index/my%20document/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A349.htm

ความหมายการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

กระทรวงศึกษาธิการ (2546, หน้า 19) อ้างถึงใน พระเทพเวที,2531, หน้า 24) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การบูรณาการ หมายถึงการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงศาสตร์สาขาต่างๆ ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่มีความหมาย มีความหลากหลายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
สำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (2540, หน้า 6) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การสอนแบบบูรณาการ หมายถึงการเชื่อมโยงวิชาหนึ่งเข้ากับวิชาอื่น ๆ ในการสอน เช่น การเชื่อมโยงวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์และภาษาไทย การเชื่อมโยงวิชาวิทยาศาตร์กับสังคมศึกษา การเชื่อมโยงวิชาศิลปะกับภาษาไทย เป็นต้น
โศภนา บุณยะกลัมพ (2546, หน้า 8) ได้ให้ความหมายไว้ว่ การสอนแบบบูรณาการ หมายถึงการสอนซึ่งนำเอาสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ เข้ามาผสมผสานกันเพื่อประโยชน์แก่ผู้เรียน โดยใช้สาระการเรียนรู้ใดสาระการเรียนรู้หนึ่งเป็นแกนหลักแล้วขยายวงกว้างขวางออกไป เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดความสมบูรณ์ในตัวของเขาเอง
นิรมล ศตวุฒิ (2547, หน้า 74) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การสอนแบบบูรณา หมายถึงการจัดให้ผู้เรียนเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม (holistic way) ระหว่างวิชาต่าง ๆ อย่างมีความหมายตามสภาพความเป็นจริงในชีวิตหรือสภาพปัญหาสังคมที่ซับซ้อน
จากที่กล่าวมาพอสรุปความหมาย การสอนแบบบูรณาการได้ว่า เป็นการเชื่อมโยงวิชาหนึ่งเข้ากับวิชาอื่น ๆ ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
เหตุผลที่สนับสนุนการเชื่อมโยงวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันในการสอนมีดังต่อไปนี้
1. สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงไม่ได้จำกัดว่าจะเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง โดยเฉพาะ ตัวอย่าง เช่น การเกิดอุทกภัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวแต่ก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง เช่น บ้านเรือนไร่นาเสียหาย ธุรกิจหยุดชะงัก โรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ ต้องหยุดงาน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหลายประการ ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เราจำเป็นจะต้องใช้ความรู้และทักษะจากหลาย ๆ สาขาวิชามาร่วมกันแก้ปัญหา การเรียนรู้เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ในลักษณะเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิชา และความสัมพันธ์ของวิชาต่าง ๆ เหล่านั้นกับวิชาจริง
2. การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการจะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างความคิดรวบยอดในศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย การเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นว่าความคิดรวบยอดจะต้องแยกจากความคิดรวบรวมยอดในวิชาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ภาษา หรือสังคมศึกษา นื้อหาและกระบวนการที่เรียนในวิชาหนึ่งอาจช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจในวิชาอื่นดีขึ้นได้
3. การสอนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงความคิดรวบยอดจากหลาย ๆ สาขาวิชาเข้าด้วยกันมีประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือช่วยให้เกิดการถ่ายโอนความรู้ (transf of learning) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการจะช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับชีวิตจริงได้และในทางกลับกันก็จะสามารถเชื่อมโยงเรื่องของชีวิตจริงภายนอกห้องเรียนเข้ากับสิ่งที่เรียนได้ ทำให้นักเรียนเข้าใจว่า สิ่งที่ตนเรียนมีประโยชน์หรือนำไปใช้จริงได้
4. หลักสูตรและการเรียนการสอนแบบบูรณาการมีประโยชน์ในการขจัดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาต่าง ๆ ในหลักสูตร ในปัจจุบันเราประสบปัญหาในเรื่องที่ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีเรื่องที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นจำนวนมากมายในแต่ละปีการเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วของความรู้และข้อมูลต่าง ๆ นี้ ทำให้การเรียนแบบสัมพันธ์วิชามีความสำคัญมากกว่า ที่ต่างวิชาต่างเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในหลักสูตรของตน
5. การเรียนการสอนแบบบูรณาการสามารถตอบสนองต่อความสามารถของผู้เรียนซึ่งมีหลายด้าน เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ การมองพื้นที่ ความคล่องของร่างกาย และความเคลื่อนไหวดนตรี สังคมหรือมนุษย์สัมพันธ์และความรู้และความเข้าใจตนเอง ซึ่งรวมเรียกว่า “พหุปัญญา” (Multiple Intelligences) และสนองตอบต่อความสามารถที่จะแสดงออกและตอบสนองทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
6. กระบวนการเรียนการสอนที่ใช้ในหลักสูตรแบบบูรณาการสอดคล้องกับทฤษฎีการสร้างความรู้โดยผู้เรียน (constructivism) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาขณะนี้

อ้างอิงข้อมูลมาจาก
http://www.kroobannok.com/blog/39220

รูปแบบของการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ (models of integration)มี 4 รูปแบบ คือ


1. การสอนบูรณาการแบบสอดแทรก (infusion instruction)

การสอนรูปแบบนี้ครูผู้สอนในวิชาหนึ่งสอดแทรกเนื้อหาของวิชาอื่น ๆ เข้าไปในการสอนของตน เป็นการวางแผนการสอนและสอนโดยครูเพียงคนเดียว
2. การสอนบูรณาการแบบขนาน (parallel instruction)
การสอนตามรูปแบบนี้ ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปสอนต่างวิชากัน ต่างคนต่างสอนแต่ต้องวางแผนการสอนร่วมกันโดยมุ่งสอนหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหาเดียวกัน (theme/concept/problem) ระบุสิ่งที่ร่วมกันและตัดสินในร่วมกันว่าจะสอนหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหานั้น ๆ อย่างไรในวิชาของแต่ละคน งานหรือการบ้านที่มอบหมายให้นักเรียนทำจะแตกต่างกันไปในแต่ละวิชา แต่ทั้งหมดจะต้องมีหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหาร่วมกัน
3. การสอนบูรณาการแบบสหวิทยาการ (multidisciplinary instruction)
การสอนตามรูปแบบนี้คล้าย ๆ กับการสอนบูรณาการแบบขนาน (parallel instruction) กล่าวคือครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปสอนต่างวิชากัน มุ่งสอนหัวเรื่อง ความคิดรวบยอด/ปัญหาเดียวกันต่างคนต่างแยกกันสอนเป็นส่วนใหญ่ แต่มีการมอบหมายงาน หรือโครงการ (project) ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ครูทุกคนจะต้องวางแผนร่วมกันเพื่อที่จะระบุว่าจะสอนหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหานั้น ๆ ในแต่ละวิชาอย่างไร และวางแผนสร้างโครงการร่วมกัน (หรือกำหนดงานจะมอบหมายให้นักเรียนทำร่วมกัน) และกำหนดว่าจะแบ่งโครงการนั้นออกเป็นโครงการย่อย ๆ ให้นักเรียนปฏิบัติแต่ละรายวิชาอย่างไร
อนึ่ง พึงเข้าใจว่าคำว่า “โครงการ” นี้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “โครงงาน” มาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ “Project” หลายท่านอาจคุ้นกับคำว่า โครงงาน มากกว่า เช่น “โครงงานวิทยาศาสตร์” ซึ่งก็อาจเรียกว่า “โครงการวิทยาศาสตร์” ได้เช่นเดียวกัน
4. การสอนบูรณาการแบบข้ามวิชาหรือเป็นคณะ (transdisciplinary instrction)
การสอนตามรูปแบบนี้ครูที่สอนวิชาต่าง ๆ จะร่วมกันสอนเป็นคณะหรือเป็นทีม ร่วมกันวางแผน ปรึกษาหารือ และกำหนดหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหาร่วมกัน แล้วร่วมกันดำเนินการสอนนักเรียนกลุ่มเดียวกัน

อ้างอิงข้อมูลมาจาก
http://www.kroobannok.com/blog/39220

การสร้างบทเรียนแบบบูรณาการมี 2 ลักษณะคือ การสอนบูรณาการตามรูปแบบที่ 1 และ 2 และการสอนบูรณาการตามรูปแบบที่ 3 และ 4
การสอนตามรูปแบบที่ 1 (infusion instruction) และรูปแบบที่ 2 (parallel instruction) มี 2 วิธีคือ

วิธีที่หนึ่ง เลือกหัวเรื่อง (theme) ก่อนแล้วดำเนินการพัฒนาหัวเรื่องให้สมบูรณ์ มีกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจกรรมให้ชัดเจน กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่จะใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่น ๆ ตามลำดับ
วิธีที่สอง เลือกจุดประสงค์รายวิชาจาก 2 รายวิชาขึ้นไปก่อน แล้วนำมาสร้างเป็นหัวเรื่อง (theme) ที่ร่วมกันระหว่างจุดประสงค์ที่เลือกไว้กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่ใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่น ๆ ตามลำดับมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
วิธีที่หนึ่ง เลือกหัวเรื่องก่อน
ขั้นที่ 1 เลือกหัวเรื่อง (theme) โดยวิธีต่อไปนี้
1. ระดมสมองของครูและนักเรียน
2. เน้นที่การสอดคล้องกับชีวิตจริง
3. ศึกษาเอกสารต่าง ๆ
4. ทำหัวเรื่องให้แคบลงโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างวิชาความรู้ และความสนใจของนักเรียน

ขั้นที่ 2 พัฒนาหัวเรื่อง (theme) ดังนี้
1. เขียนวัตถุประสงค์โดยกำหนดความรู้และความสามารถที่ต้องการ จะให้เกิดแก่ผู้เรียน เขียนวัตถุประสงค์ในลักษณะที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวิชา กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่กิจกรรม
2. กำหนดเวลาในการสอนให้เหมาะสมกับกำหนดเวลาต่าง ๆ ตามปฏิทินของโรงเรียน เช่น จำสอนเมื่อใด ใช้เวลาเท่าไร ยืดหยุ่นได้หรือไม่ ต้องใช้เวลาออกสำรวจหรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหรือไม่ ฯลฯ
3. จองเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการกระทำกิจกรรม

ขั้นที่ 3 ระบุทรัพยากรที่ต้องการ ควรคำนึงถึงทรัพยากรที่หาได้ง่าย แล้วติดต่อแหล่งทรัพยากร
ขั้นที่ 4 พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้
1. พัฒนากิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงกับเนื้อหาวิชาอื่น
2. ตั้งจุดมุ่งหมายของกิจกรรมให้ชัดเจน
3. เลือกวิธีที่ครูวิชาต่างๆ จะทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวิชา
4. เลือกวิธีการสอนที่จะใช้
5. สร้างเอกสารแนะนำการปฏิบัติกิจกรรม
6. สิ่งที่ครูควรจะต้องเตรียมล่วงหน้าอาจประกอบด้วยสิงต่อไปนี้
- ใบความรู้
- ใบงาน
- แบบบันทึก (ซึ่งอาจเป็นแบบที่ครูออกแบบให้เลย หรืออาจเป็นแบบบันทึกที่นักเรียนจะต้องช่วยกันออกแบบก็ได้)
- สื่อและอุปกรณ์อื่นๆ
- แบบประเมิน
- ฯลฯ
ขั้นที่ 5 ดำเนินการตามกิจกรรมการเรียนการสอนที่เตรียมไว้โดย
- พยายามปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ แต่อาจปรับกิจกรรมตามความสนใจของนักเรียน
- ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดหน่วยการเรียน
- ร่วมมือกับครูคนอื่น มีการพบกันเป็นระยะเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า
ขั้นที่ 6 ประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน โดยครูควรกระทำตลอดเวลาเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุง
ขั้นที่ 7 ประเมินกิจกรรมการเรียนการสอน โดยครูสำรวจจุดเด่น-จุดด้อย ของกิจกรรมแล้วบันทึกไว้เพื่อนำไปปรับปรุง
ขั้นที่ 8 แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูด้วยกันเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนากิจกรรม ในครั้งต่อๆไป

วิธีที่สอง เลือกจุดประสงค์การเรียนรู้ก่อน
ขั้นที่ 1 เลือกจุดประสงค์การเรียนรู้จาก 2 รายวิชาขึ้นไปที่จะนำมาบูรณาการกันโดย จะต้องพิจารณาว่าจุดประสงค์นั้น ๆ เกี่ยวข้องกันหรือไม่ และเกี่ยวข้องกันอย่างไร ถ้าหากมีความสัมพันธ์เกี่ยวกันหรือไปด้วยกันได้ จึงนำมาบูรณาการกัน
ขั้นที่ 2 นำจุดประสงค์ดังกล่าวในขั้นตอนที่ 1 มาสร้างเป็นหัวเรื่อง (theme) ที่ร่วมกัน ระหว่างจุดประสงค์ที่เลือกไว้
ขั้นที่ 3 ระบุทรัพยากรที่ต้องการ
ขั้นที่ 4 พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นที่ 5 ดำเนินการตามกิจกรรมการเรียนการสอนที่เตรียมไว้
ขั้นที่ 6 ประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน
ขั้นที่ 7 ประเมินกิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นที่ 8 แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูด้วยกัน

รายละเอียดของกิจกรรมในขั้นตอนต่าง ๆ มีรายละเอียดคล้ายคลึงกับวิธีที่หนึ่ง ต่างแต่การสลับลำดับขั้นเท่านั้น
สำหรับการสอนบูรณาการตามรูปแบบที่ 3 (multidisciplinary instruction) และรูปแบบที่ 4 (transdisciplinary instruction) นั้น เน้นที่งานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามากกว่า 1 สาขาวิชาขึ้นไปที่จะให้นักเรียนปฏิบัติหรือศึกษา ดังนั้นวิธีการสร้างบทเรียนแบบบูรณาการในขั้นที่ 4 “การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน” จึงเป็นการกำหนดงานหรือโครงการ (project) ที่จะให้นักเรียนทำ ทั้งนี้เพราะการสร้างงานหรือโครงการเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการสร้างบทเรียนแบบบูรณาการเพราะสามารถเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลาย ๆ สาขาวิชาได้

งานหรือโครงการที่นักศึกษาจะต้องทำมี 4 ประเภทคือ
1. ข้อสรุป หมายถึงข้อสรุปทั่วไปที่สร้างขึ้นจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
2. กระบวนการ หมายถึงวิธีดำเนินการโดยละเอียดในการแก้ปัญหา หรือในการทำงาน
3. สิ่งประดิษฐ์ หมายถึงชิ้นงานที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือทำงานต่างๆ
4. การแสดงออกทางอารมณ์หรือจิตใจที่เป็นผลจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ภาพเขียน รูปปั้น หุ่นจำลอง จิตรกรรมฝาผนัง บทความหรือเรียงความ เป็นต้น

อ้างอิงข้อมูลมาจาก
http://www.kroobannok.com/blog/39220