ภาพถ่ายที่แพงที่สุดในโลก!!!

99 เซนต์ แต่แพงที่สุดในโล
โดย :รอยนวล


99 Cent II Diptychon, © copyright 2001 door Andreas Gursky
----------------------------

ภาพถ่ายที่แพงที่สุดในโลก!!! เป็นสถิติที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2007 ในการประมูลของซอเธบี ด้วยค่าตัว 3.34 ล้านเหรียญสหรัฐ


ทำให้ผลงานของ “แอนเดรียส เกอร์สกี” ซึ่งมีชื่อว่า “99 Cent II Diptychon” โด่งดังไปทั่วโลก
ลั่นไกถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 1999 ภาพนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “99 cent.1999” ภาพภายในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีทางเดินหลายช่อง เต็มไปด้วยสิ่งของมากมาย หลากหลายสีสัน ภาพถ่ายนี้ใช้เทคนิคของเทคโนโลยียุคดิจิตอล ผ่านการทำให้เกิดสีในแบบที่เรียกว่า โครโมจีนิก หรือ ซีพรินต์

แอนเดรียส เกอร์สกี ชาวเยอรมัน ปัจจุบันอายุ 54 ปี นับเป็นหนึ่งในช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เขามีชื่อเสียงในเรื่องการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ และภาพแลนด์สเคปที่เต็มไปด้วยสีสัน งานของเขาส่วนมากมักเป็นการถ่ายจากมุมสูง


Andreas Gursky, 99 Cent II Diptychon, 2001, C-print mounted to plexiglass, 2x 207 x 307 centimeter

ศิลปะร่วมสมัยยังไม่ตาย

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์


ตลาดที่ซบเซากลับเป็นโอกาสให้นักสะสมสามารถหาซื้อผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมได้ในราคาที่ไม่แพง

สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกจนลง ไม่เว้นนักสะสมงานศิลป์ราคาแพง ที่อาจจะเริ่มคิดๆ ว่า ควรจะเอาเงินที่ใช้ซื้อสะสมงานศิลป์ ไปซื้อบ้านดีๆ แถบชานเมืองในสหรัฐฯ ที่ถูกยึดจะคุ้มกว่าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดงานศิลปะร่วมสมัยอาจจะลดความนิยมลง แต่ยังไม่ถึงกับล้มหายตายจากไป ในช่วงเวลาที่ตลาดตกต่ำอย่างนี้ ทำให้ทั้งศิลปินและ dealer ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ในขณะที่นักสะสมก็จะหวนกลับไปให้ความสำคัญกับคุณค่าพื้นฐานในงานศิลป์มากขึ้น เช่นความเป็นต้นแบบและคุณค่าที่เหนือกาลเวลา แทนการซื้อตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากที่คนอื่นๆ บอกว่าดี

Clovis Whitfield ตัวแทนซื้อขายงานศิลป์หรือ art dealer ในลอนดอนชี้ว่า การซื้องานศิลป์เก่าๆ ดีๆ เป็นการลงทุนที่ดีกว่าการซื้อทองคำ ถ้าหากว่าคุณกำลัง มองหาสิ่งที่สามารถรักษาคุณค่าในตัวเอง แกลเลอรี่ของเขาใกล้จะได้ขายภาพเขียนยุคต้นศตวรรษที่ 16 โดยศิลปิน Andrea del Sarto ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการฟลอเรนซ์ (Florentine renaissance) ในราคาสูงถึง 8.5 ล้านยูโร ซึ่งจะถือเป็นราคาที่สามารถทำลายสถิติราคาสูงสุดในตลาดงานศิลปะร่วมสมัยเลยทีเดียว

ขณะนี้นักสะสมงานศิลป์กำลังเที่ยวมองหาผลงานที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมซึ่งสามารถจะซื้อได้ในราคาที่คุ้มค่า Don Rubell นักธุรกิจโรงแรมชาวอเมริกัน หนึ่งในนักสะสมผลงานศิลปะร่วมสมัยรายใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวว่า นักสะสมก็เจ็บตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียว กัน จึงซื้องานศิลป์น้อยลงและพิถีพิถันในการเลือกมากขึ้น แต่โอกาสที่จะได้ซื้องานดีๆ มีมากในขณะนี้ และเขายังคงตามล่างานศิลป์เพื่อนำไปสมสะในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของเขา Rubell Family Art Collection ซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่ที่เคยเป็นคลังสินค้าเก่าของหน่วยงานราชการในฟลอริดา Rubell และภรรยา Mera เริ่มซื้องานศิลป์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถึงบัดนี้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ พวกเขาซื้อผลงานของ Damien Hirst และ Keith Haring มานานแล้ว ก่อนที่ศิลปินทั้งสองจะโด่งดังสุดขีดในเวลาต่อมา ตอนนี้ Rubell กำลังโปรดปรานผลงานใหม่ๆ ของศิลปินรุ่นเยาว์ และผลงานที่ดีที่สุดของศิลปินรุ่นกลาง

Rubell และครอบครัวซึ่งหลงใหลในงานศิลปะ มักจะใช้เวลาให้หมดไปกับการตระเวนไปตามแกลเลอรี่ต่างๆ และสตูดิโอ ทั่วโลกเพื่อชื่นชมผลงานศิลปะ เขาเชื่อว่างานที่ดีที่สุดของศิลปินคนหนึ่งๆ คือผลงานในช่วงปีแรกๆ ในตอนที่ศิลปินยังไม่มีชื่อเสียง และยังเต็มใจที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ในผลงานของเขา Rubell เห็นว่า ศิลปะที่ดีที่สุด คือผลงานที่มีความคิดใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ และการแสดงออกใหม่

แต่ในช่วงที่ตลาดศิลปะกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ศิลปินมักจะผลิตงานซ้ำๆ กันมาก และการผลิตซ้ำตามกระแสตลาดก็ได้ทำลายศิลปะร่วมสมัยของจีนไปแล้ว ทั้งๆ ที่เมื่อปีที่แล้ว ศิลปะร่วมสมัยจากจีนได้รับความนิยมสุดขีด ศิลปินจีนเกือบจะกลายเป็นเศรษฐีในทันที จากผลงานที่อาจจะดูอลังการขึ้น แต่แก่นของเนื้อหาสาระกลับดูคล้ายๆ กันไปหมด (และมักจะเกี่ยวข้องกับประธาน Mao Zedong) เมื่อเทียบกับผลงานของศิลปินจีนด้วยกันเองในช่วง 15 ปีก่อน

ศิลปินจีนชื่อดังอย่าง Yue Minjun ในวัย 40 กลายเป็นศิลปินดังทันที เมื่อผลงานของเขาทำลายสถิติการประมูล ในปี 2008 ที่งานประมูล Christie's ในฮ่องกง ผลงานชื่อ "Gweong-Gweong" ของเขา ขายได้ในราคาสูงถึง 6.9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติราคาสูงสุดสำหรับผลงานของ Yue แต่คนตัวสีชมพูที่มีใบหน้า หัวเราะปากกว้าง อันเป็นเอกลักษณ์ของ Yue ซึ่งปรากฏซ้ำๆ ในผลงานภาพเขียนและงานปั้นของเขา ซึ่งเคยขายได้ในราคาหลายล้านดอลลาร์ แต่หลังจากหลายปีผ่านไป งานศิลป์ร่วมสมัยของจีนจำนวนมากรวมถึงผลงานของ Yue กลับขายไม่ออกอีกต่อไป หลังจากความตื่นเต้นที่มีต่อศิลปะ "ใหม่" จากจีนจืดจางลง แกลเลอรี่หลายสิบแห่งในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ก็เริ่มหายหน้าหายตาไปตั้งแต่ช่วงตรุษจีนของปีนี้เป็นต้นมา

งานศิลป์ของจีนจึงกลายเป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนความเป็นจริงในตลาดงานศิลปะร่วมสมัยที่เดินไปผิดทาง งานศิลป์ของจีนเติบโตเหมือนกับฟองสบู่ โดยขาดกรอบในเชิงคุณค่าของการเป็นงานที่น่าสะสม "ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้งานนั้นน่าสนใจ" Magnus Renfrew ผู้อำนวยการงานแสดงศิลปะ ART HK และอดีตผู้เชี่ยว ชาญงานศิลปะร่วมสมัยของ Bonhams ใน London กล่าว ด้วยเหตุนี้ บริษัทประมูลซึ่งมีอำนาจทางการตลาดมากกว่าสามารถเข้าถึงตลาดงานศิลป์โลกได้ดีกว่า จึงกลายเป็นผู้ตัดสินคุณค่าของศิลปิน ราคากลายเป็นปัจจัยหลักในการประเมินคุณค่าของผลงานศิลปะ กลายเป็นว่างานศิลป์จะดีเพราะมีราคา แพง หาใช่มีราคาแพงเพราะเป็นงานที่ดี

ยากที่จะบอกว่านักสะสมงานศิลป์เป็นสาเหตุหรือเหยื่อของแนวคิดที่ผิดเพี้ยนดังกล่าว Sundaram Tagore หลานชายของ Rabindranath Tagore กวีผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียเป็น dealer ให้กับแกลเลอรี่หลายแห่ง ในนิวยอร์ก ลอสแองเจลิสและฮ่องกง ชี้ว่า 90% ของนักสะสมงานศิลป์เป็นชาวอเมริกันหรือยุโรปหลายคนซื้องานศิลป์ โดยใช้หูไม่ใช่ตา แม้รายได้ของเขาจะตกลงไปถึง 70% แต่ Tagore บอกว่างานศิลป์ดีๆ ของศิลปิน ที่มีชื่อเสียงที่มีราคาตั้งแต่ 500,000 ดอลลาร์ขึ้นไปยังคงมีความเคลื่อนไหวดี อย่างเช่นภาพเขียนขาวดำเทคนิคผิวไม่เรียบของ Sohan Qadri จิตรกรชาวอินเดีย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการนั่งสมาธิและภาพน้ำตกของ Hiroshi Senju ศิลปินญี่ปุ่นที่ใช้เทคนิคการใช้สีจากเปลือกหอยบดละเอียดบนกระดาษใยข้าว

ศิลปะร่วมสมัยของจีนอาจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งเมื่อเศรษฐกิจ โลกฟื้นตัว ตอนนี้นักสะสมกำลังเลือกซื้องานอย่างระมัดระวังมาก ขึ้น ต้องการผลงานใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ทำให้ทั้งศิลปินและ dealer ต้องคิดสร้างสรรค์และทดลองสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น บางทีสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอาจเป็นการที่ศิลปินได้กลับไปอยู่กับ ตัวเองและกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีความคิดแปลกใหม่ แม้ นักสะสมจะยอมจ่ายสูงเพื่อให้ได้งานชิ้นเอกมาครอบครอง ขณะเดียวกันก็ยังชอบงานที่ไม่แพงหรืองานทดลอง อย่างเช่นภาพถ่าย หรือผลงานศิลปะแบบล้ำยุคจากศิลปินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

เมื่อตลาดงานศิลป์เป็นการค้าน้อยลง ทำให้แกลเลอรี่เริ่มกล้าที่จัดแสดงงานที่มีแนวคิดแปลกใหม่มากขึ้น ในฮ่องกงมีการจัด แสดงผลงานของศิลปินเวียดนามและกัมพูชา ภาพเขียนเหล่านี้มีราคาถูกแค่ 500 ดอลลาร์ก็มี มีการแสดงงานศิลป์แบบมุสลิมด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในตลาดศิลปะร่วม สมัยก็ยังคงมีอยู่บ้าง ในเดือนมิถุนายน Koons ราชาแห่งศิลปะแบบ kitsch art ชาวอเมริกัน จะจัดแสดงผลงานของเขาในลอนดอน ซี่งคาดว่าจะมีคนเข้าชมงานจำนวนมาก เมื่อปี 2007 ผลงานชื่อ "Hanging Heart (Magenta/Gold)" ของเขา ถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 23.6 ล้านดอลลาร์ ทำสถิติใหม่สำหรับการประมูลซื้อ งานปั้นของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่และยังมีผลงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนซัมเมอร์ที่แล้ว ผลงานชื่อ "Ballon Flower(Margenta/Gold)" ของ Koons ก็ถูกประมูลไปในราคา 25.7 ล้านดอลลาร์

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ที่งานศิลปะชื่อ Pulse New York มีการจัดแสดงภาพถ่าย ขนาดใหญ่ของ Imelda Marcos อดีตสุภาพ สตรีหมายเลขหนึ่งผู้อื้อฉาวของฟิลิปปินส์ โดยฝีมือของศิลปินชาวฟิลิปปินส์ Steve Tirona ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมาก ศิลปินใช้เทคนิคตกแต่งภาพทำให้เครื่องเพชรของ Imelda ดูเหมือนส่องประกายระยิบระยับเกินกว่าปกติ ภาพถ่ายของเธอกับ Saddam Hussein อดีตผู้นำอิรักในช่วงที่ยังเรืองอำนาจ ทำให้คิดว่างานศิลป์ร่วมสมัยดีๆ สักชิ้นนั้น ความจริงแล้วก็มีคุณค่าไม่ต่างกับงานคลาสสิกเช่นกัน นั่นคือ เตือนใจให้เราได้ฉุกคิดพินิจถึงคุณค่าของคน ค่านิยม และสิ่งที่เราตัดสินว่าเป็นความสวยงา

ปิดตำนานคุณหมอนักวาดภาพประกอบ “แฟรงค์ เอช เนตเตอร์” (Frank H. Netter) เจ้าของฉายา “ไมเคิล แองเจลโล” แห่งวงการแพทย์

เรื่อง: ชัชรพล เพ็ญโฉม

Frank1

อาจฟังดูงงๆ หากใครสักคนจะแนะนำตัวว่ามีอาชีพเป็นทั้งแพทย์และนักวาดภาพประกอบในเวลาเดียวกัน และคงจะยิ่งงงหนักขึ้นไปอีกหากแพทย์ท่านนั้นเล่าให้ฟังว่าภาพประกอบที่เขาวาดนั่นแหละเคยช่วยชีวิตคนมานับแสนนับล้านชีวิตแล้ว!

Frank H. Netter (1906 – 1991) คือนายแพทย์และนักวาดภาพประกอบที่(แพทย์)ทั่วโลกรู้จักกันดีจาก Netter’s Atlas of Human Anatomy เขาคนนี้คือตำนานบทเล็กๆ ของวงการแพทย์ ผู้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า “อุปสรรคสามารถแปรเปลี่ยนเป็นโอกาสได้เสมอ” และที่สำคัญไปกว่านั้นโอกาสที่เขาสร้างขึ้นให้ตัวเองยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างน่าเคารพด้วย

แฟรงค์เกิดเมื่อปีค.ศ.1906 ที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ด้วยความที่สนใจในศิลปะมาตั้งแต่เยาว์วัย เขาได้รับทุนให้ศึกษาต่อที่ National Academy of Design และยังได้เรียนกับอาจารย์พิเศษจาก Art Student Leagues of New York โดยหลังจบการศึกษาแฟรงค์ประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างรวดเร็ว เขาได้ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ดังอย่าง Saturday Evening Post และ New York Times แต่ถึงกระนั้นเนื่องจากครอบครัวไม่ยอมรับในอาชีพของเขา แฟรงค์จึงต้องเบนเข็มเพื่อเลือกทางเดินชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยเขาตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ที่ New York University และฝึกงานด้านศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาล Bellevue

Frank2

ขณะที่เป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่นั้น หมอแฟรงค์มีรายได้เสริมจากการวาดภาพประกอบให้กับบริษัทยาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งต่อมาดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเล่นตลกและนำพาให้เขากลับมาเดินอยู่บนเส้นทางของ “นักวาดภาพ” อีกครั้ง หมอแฟรงค์ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทยาแห่งหนึ่งให้ทำงานวาดภาพประกอบ ซึ่งเขาได้เสนอราคาค่าจ้างไปเป็นเงิน 1,500 เหรียญต่อภาพ 1 ชุด (5 รูป) แต่ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของบริษัทดังกล่าวเกิดเข้าใจผิดและจ่ายค่าจ้างให้เขารูปละ 1,500 เหรียญแบบไม่คิดมาก (ทำให้หมอแฟรงค์ได้รับค่าจ้างครั้งนั้นเป็นเงินทั้งสิ้น 7,500 เหรียญ) รายได้ก้อนงามดังกล่าวทำให้เขาตัดสินใจเลิกประกอบวิชาชีพแพทย์* ทันที และหันมาเป็นนักวาดภาพประกอบทางการแพทย์อย่างเต็มตัว

ในปีค.ศ.1936 หมอแฟรงค์ได้วาดภาพ “หัวใจพับได้” เพื่อเป็นสื่อโฆษณาให้กับบริษัท CIBA ปรากฏว่าภาพชุดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่แพทย์ (โดยเฉพาะภาพที่ไม่มีตราสินค้าพิมพ์อยู่ด้วย) หลังจากนั้นภาพอวัยวะพับได้อื่นๆ ก็ได้คลอดตามออกมาอีกมากมาย จนกระทั่งมีการรวมเล่มกลายเป็น The CIBA Collection of Medical Illustrations ซึ่งมีทั้งหมด 13 เล่ม (ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการรวมเล่มตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง) ในปีค.ศ.1989

Frank3

ก่อนหมอแฟรงค์เสียชีวิตเพียงสองปี ผลงานของเขาก็ได้ถูกตีพิมพ์อีกครั้งในชื่อ Netter’s Atlas of Human Anatomy ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากวงการแพทย์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ (ในช่วงชีวิตของหมอแฟรงค์ เขาได้วาดภาพประกอบที่ใช้ในวงการแพทย์รวมกว่า 4,000 ภาพ และได้รับการตีพิมพ์ใหม่นับครั้งไม่ถ้วน)

การผสมผสานทักษะที่ไม่น่าเชื่อว่าจะรวมอยู่ด้วยกันได้ในคนคนเดียว ดังเช่นในกรณีของคุณหมอนักวาด “แฟรงค์ เอช เนตเตอร์” นับเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับ “การเลือกเส้นทางอาชีพ” ได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้หลายๆ คนเริ่มเล็งเห็นว่าคุณค่าที่แตกต่างของศาสตร์แต่ละสาขานั้น หากถูกนำมาหลอมรวมกันได้อย่างเหมาะเจาะแล้ว ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติได้มหาศาล

*ในยุคที่แฟรงค์เป็นแพทย์ฝึกหัด เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทั่วโลก (The Great Depression ราวปีค.ศ.1929-1940) ทำให้คนจำนวนมากตกงานและไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา แพทย์ในยุคนั้นจึงไม่ได้เป็นวิชาชีพที่สามารถสร้างรายได้มากนัก

เกร็ดความคิด : อาชีพนักวาดภาพประกอบทางการแพทย์ (ที่บางคนอาจรู้จักในชื่อ Medical Artist หรือ Medical Illustrator) น่าจะเป็นวิชาชีพที่ให้แง่คิดแก่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองไทยได้เป็นอย่างดี อาชีพนี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกฝนและพัฒนาทักษะของคนให้มีความ “รอบด้าน” นั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตัวบุคคลเองแล้ว ยังอาจสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและคนอื่นๆ ได้ด้วย เหมือนอย่างในกรณีของนายแพทย์แฟรงค์ เอช เนตเตอร์ เป็นต้น

เครดิตข้อมูล:
http://en.wikipedia.org/wiki/Frank_H._Netter
http://www.netteranatomy.com/
http://www.elsevier.com/wps/find/bookdescription.cws_home/708004/description
http://www.netterimages.com/artist/netter.htm

เครดิตภาพ:
http://medicalsbooks.blogspot.com/2008_07_01_archive.html
http://www.netterimages.com/artist/netter.htm
http://img1.uploadhouse.com/fileuploads/469/469732a510bc054f7c67d38a272225e344f8ee.jpg