เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม
กลุ่มแฟรงค์เฟริทสคูล เป็นชื่อสถาบันวิจัยสังคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเมืองแฟรงค์เฟริท ในประเทศเยอรมัน ราวปี ค.ศ.1924 ในฐานะที่เป็นสถาบันซึ่งอุทิศให้กับการศึกษาเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ สถาบันดังกล่าวมีความสัมพันธ์อย่างหลวมๆกับ The University of Frankfurt มาตั้งแต่ต้น ซึ่งต่อมาได้เป็นศูนย์กลางสำหรับแนวคิดฝ่ายซ้ายของชาวเยอรมัน แต่กระนั้นก็ตาม สถาบันดังกล่าวก็ยังไม่เจริญอย่างเต็มที่ จนกระทั่ง Max Horkheimer ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการในปี ค.ศ.1930 เขาได้รวบรวมนักวิชาการกลุ่มต่างๆที่มีแนวคิดทฤษฎีวิพากษ์ ความคิดในลักษณะวิภาษวิธี อย่างเช่น Theodor Adono, Walter Benjamin, Herbert Marcuse, และ Erich Fromm เป็นต้น เพื่อมาสร้างระบบการศึกษาในแบบสหวิทยาการขึ้น แม้ว่ากลุ่มแฟรงค์เฟริทสคูลจะมีอายุเพียงไม่นาน แต่ด้วยวิธีคิดที่เป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้นักคิดกลุ่มนี้สร้างผลกระทบและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความคิดทางสังคม วิทยา การเมือง และวัฒนธรรมในคริสตศตวรรษที่ 20 และได้เป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้เกี่ยวกับการประยุกต์แนวคิดดังกล่าวมาใช้ เป็นฐานคิดการสร้างสรรค์งานศิลปะในประเทศไทย เกี่ยวกับการประยุกต์แนวคิดแฟรงค์เฟริทสคูลมาเป็นฐานคิดการสร้างสรรค์ศิลปะ ในงานวิจัย ได้นำเอานักคิดคนสำคัญของกลุ่มมาเป็นตัวตั้ง และพิจารณาลงไปในงานชิ้นสำคัญของแต่ละคนเป็นหลัก จากนั้นได้นำมาวิเคราะห์ออกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งจำแนกออกเป็น 10 พื้นที่การศึกษา อาทิเช่น พื้นที่ทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์, พื้นที่ทางปรัชญา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง, พื้นที่ทางวัฒนธรรม, พื้นที่ทางจิตวิทยา, พื้นที่เกี่ยวกับความเป็นเพศ, พื้นที่ทางด้านภาษาและการสื่อสาร เป็นต้น ต่อจากนั้นได้แปรสิ่งเหล่านี้ไปเป็นข้อเสนอ ซึ่งบรรดาศิลปินทั้งหลาย สามารถนำเอาความคิดเหล่านี้ไปประยุกตใช้ได้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตน เอง การมองปัญหาต่างๆในทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของศิลปินไทยที่ผ่านมา มีลักษณะ single approach ซึ่งเป็นสิ่งตกค้างจากประวัติศาสตร์ในยุคโมเดิร์น ที่มองปัญหาต่างๆในลักษณะแยกส่วน ทำให้ขาดความเข้าใจปัญหาในลักษณะที่เป็นองค์รวม นอกจากนี้ยังมีลักษณะการใช้ความคิดในเชิงวิพากษ์ไม่มากนัก ดังนั้นงานศิลปะที่ปรากฏออกมาจึงเป็นภาพสะท้อนในลักษณะกระจกเงา มากกว่าที่จะเจาะลึกลงไปถึงปัญหา งานวิจัยชิ้นนี้พยายามเข้ามาเสริมในส่วนนี้ให้กับบรรดาศิลปินทั้งหลาย โดยเน้นไปที่กรอบความคิดในเชิงบริบท นอกจากนี้ยังต้องการกระตุ้นให้ศิลปินและผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับงานศิลปะสนใจ ในปัญหาสังคม โดยเปิดโลกทัศน์เข้าไปสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ เกี่ยวกับปัญหาสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลายและรอบด้าน ส่วนกระบวนการแปรความคิดไปเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ เป็นหน้าที่ของศิลปินแต่ละคนอย่างอิสระ