การเรียนรู้ผ่านทักษะหลากวิธี + สร้างสรรค์กิจกรรมเคลื่อนไหวทางศิลปะ

การแบบถอดประสบการณ์การเรียนรู้ ด้านประเด็นความรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


1. ผู้เล่าเรื่อง      อ.ต้นข้าว นิทัศกาญจนานนท์  และ อ.ปริญดา  เสตะพันธุ์ คณะศิลปะและการออกแบบ
2. ผู้บันทึก      อ.บัณฑิต  เนียมทรัพย์  คณะศิลปะและการออกแบบ  
3. บทบาทของผู้เล่าเรื่อง
เป็นอาจารย์ประจำและผู้สอนในรายวิชา ART 112, ART 113, และ ART 114 
4.  เรื่องที่เล่า  “การเรียนรู้ผ่านทักษะหลากวิธี + สร้างสรรค์กิจกรรมเคลื่อนไหวทางศิลปะ” 
5.  ความเป็นมาของเรื่อง 
การเรียนก้าวแรกสู่การเป็นนักออกแบบ ภาษาทางศิลปะถูกถ่ายทอดสู่บทการเรียนขั้นพื้นฐานเป็นลำดับก่อนก้าวต่อยอดในขั้นสูง ในคณะศิลปะและการออกแบบวิชาพื้นฐานทางศิลปะถูกกำหนดเป็นแกนหลักแรกที่นักศึกศึกษาต้องเรียนรู้ วิชาทฤษฎีสี ART 112 วิชาการออกแบบสองและสามมิติ ART 113, ART 114 ซึ่งอยู่ในภาคการสอนสองภาษา ( Bilingual Program ) ซึ่งทางคณะศิลปะและการออกเปิดคู่ขนานกับภาคภาษาไทย  ซึ่งภาระหลักของสามรายวิชานี้นอกจากจะปูฐานองค์ความรู้แรกทางศิลปะที่ว่าด้วยสี รูปร่างและสุนทรีมิติทางรูปทรงแล้ว โปรแกรมในแต่ละรายวิชายังแทรกการสอนภาษาอังกฤษที่สอดรับกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนภาอังกฤษให้ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำนานาชาติ 
สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยของสามรายวิชาพื้นฐานที่ต้องเสริมความรู้และทักษะทางศิลปะ ผ่านการคิดวิเคราะห์และลงมือสร้างสรรค์ชิ้นงานไปพร้อมกัน ด้วยเทคนิคที่ให้ผู้เรียนค้นหาศักยภาพที่เปี่ยมด้วยพลังความคิดเชิงสร้างศิลป์ด้วยบททดลองหลากโจทย์ที่ไม่ต่างจากนักค้นคว้าที่อยู่ในห้องแลบวิทยาศาสตร์  “ผู้สอนได้คิดและพัฒนาการเรียนรู้ศิลปะผ่านการหยิบยืมเทคนิคการทดลองเชิงฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ทำให้ผู้เรียนค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ทางศิลปะอย่างน่าตื่นเต้นประทับใจ” นอกเหนือจากความน่าสนใจเหล่านี้แล้ว การจัดกิจกรรมในช่วงท้ายเทอมยังช่วยสร้างสีสันความบันเทิงทางศิลปะด้วยการรวมตัวจากนักศึกษาและคณาจารย์ต่างคณะและจากมหาวิทยาลัยอื่นภายใต้แนวคิด  เทศกาลทางศิลปะที่ชื่อ “ KNOCKOUT ”
6. วิธีการที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ใช้  
นักวิทยาศาสตร์มักคว่ำหวอดกับการตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ความสงสัยทั้งหลายถูกมนุษย์ท้าทายด้วยการตั้งสมมุติฐานและค้นหาหนทางพิสูจน์จนได้คำตอบที่เผยเป็นทฤษฎี กว่าจะได้รับการยอมรับต้องผ่านการทดลองพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งไม่ต่างจากการเรียนทางศิลปะที่อาศัยกรอบทฤษฎีที่คิดค้นเป็นแกนหลัก  การเรียนในสามรายวิชาผู้สอนจึงตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนพิสูจน์แนวคิดเหล่านั้นด้วยการทดลองด้วยตนเอง และนำสู่การขยายผลให้เป็นมิติทางศิลปะที่มีคุณค่าเชิงความงามในท้ายสุด
การเรียนด้วยการทดลองที่น่าสนใจเช่นนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้สอนยึดติดแต่ภายใต้กรอบแนวคิดเดิม การเปิดใจกว้างที่จะรับฟังไอเดียสดใหม่ที่นักเรียนพึ่งจะค้นพบช่วยทลายกรอบห้องเรียนแบบเดิมให้หมดไป แทนที่นักเรียนจะมุ่งเป้าไปที่ผู้สอนเป็นแกนหลักสำคัญ แต่สามรายวิชานี้ผู้สอนได้เปิดผนังห้องเรียนทางศิลปะที่คับแคบอึดอัดในแบบการสอนเดิมๆให้กว้างขึ้น เปิดใจรับฟังเสียงของนักเรียนศิลปะที่สร้างชิ้นงานได้อย่างยอดเยี่ยม ปรากฏการณ์การเรียนรู้แบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายระบบโรงเรียนศิลปะในบ้านเมืองเราที่ควรก้าวข้ามยุคสมัยไปสู่ความเป็นเลิศทางศิลปะที่มุ่งให้ผู้เรียนค้นพบศักยภาพในตัวเองเป็นสำคัญ

7. ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
ความสำเร็จที่น่ายกย่องของสามรายวิชานี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดองค์ประกอบเกื้อหนุนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งก็คือ การมุ่งความสำคัญที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก รองลงมาคือบทบาทที่ผู้สอนในรายวิชาได้กำหนดเป้าหมายของการเรียนไว้แต่แรกอย่างชัดเจนว่า  ภาพรวมของงานที่นักศึกษาสร้างสรรค์ขึ้นจะนำไปขยายผลในรูปของกิจกรรมสันทนาการทางศิลป์ เช่นงาน“ KNOCKOUT  ” ที่จัดขึ้นมาสามครั้งและบรรลุผลอย่างยอดเยี่ยม
แผนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมศิลป์ที่กำหนดไว้ชัด ทำให้ผู้เรียนมีแผนภาพที่ไม่คลุมเครือ การเรียนรู้เชิงการทดลองจึงสนุกไม่น่าเบื่อ ตื่นเต้นไปกับการสร้างชิ้นงานที่มีโจทย์ท้าทาย อาทิ “ปั้นน้ำเป็นตัว” หนึ่งในบทเรียนที่ให้นักเรียนได้สร้างสรรค์ฟอร์มชิ้นงานจากวัสดุที่แปรสภาพจากของเหลวเป็นของแข็ง และอีกหลายบทเรียนที่ได้ผลสรุปเป็นชิ้นงานที่สร้างความฉงนใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง


           “ เมื่อได้เรียนรู้ผ่านการทดลอง เหมือนค้นพบปรากฏการณ์ทางศิลปะใหม่ๆไปพร้อมกันด้วย”

The 4th Rangsit University International Design Symposium 2016 , Work in Progress . “ ART AND DESIGN FOR LIFE

เปิดศักยภาพการเรียนรู้ด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาประวัติศาสตร์



ถอดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

1. ผู้เล่าเรื่อง      อ.ต้นข้าว นิทัศกาญจนานนท์   คณะศิลปะและการออกแบบ
2. ผู้บันทึก        อ.บัณฑิต  เนียมทรัพย์  คณะศิลปะและการออกแบบ
3. บทบาทของผู้เล่าเรื่อง
เป็นผู้สอนในรายวิชา INT 251 ประวัติศาสตร์ตะวันตกศตวรรษที่20-21
4.  เรื่องที่เล่า    “ เปิดศักยภาพการเรียนรู้ด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาประวัติศาสตร์”
5.  ความเป็นมาของเรื่อง 
วิชาประวัติศาสตร์การออกแบบภายในตะวันตกเป็นวิชาหลักที่ปูฐานความเข้าใจความเป็นมาของการออกแบบในอดีตของตะวันตกโดยเริ่มตั้งแต่ต้นยุคคริสตกาลเรื่อยมาจนถึงยุคคลาสสิกและสมัยใหม่ แต่ละยุคมีเนื้อหาความเข้าใจอันส่งผลต่องานออกแบบของโลกปัจจุบัน เหมือนดั่งตะกอนของความรู้ในโลกอดีตที่ทับซ้อนกันเป็นชั้นหนาและส่งผลอย่างต่อเนื่อง  อิทธิพลงานออกแบบจากซีกโลกตะวันตกหลั่งไหลสู่ต่อโลกตะวันออกและเอเชียอย่างไม่หยุดยั้งนับแต่อดีต ไม่ว่าด้วยปัจจัยใดๆที่มีผลการขยายอิทธิพลทางศิลปะและการออกแบบภายในที่ปรากฏให้เห็นสะท้อนบทบาทสำคัญที่วิชาประวัติศาสตร์จะสร้างภาพในมุมกว้างเพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจอดีตอย่างลึกซึ้ง
ประเด็นสำคัญรองลงมาคือเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายในส่วนใหญ่มักถูกบันทึกหรือเล่าเรื่องเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาอื่นๆนอกเหนือจากภาษาไทยซึ่งมีเป็นส่วนน้อย การสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชานี้จึงถูกออกแบบให้ผู้สอนเล่าเรื่องผ่านบทสนทนาการเรียนรู้และกิจกรรมที่เกิดขึ้นต่างๆเป็นภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ80  ซึ่งส่งผลกระตุ้นและพัฒนาให้ผู้เรียนตระหนักถึงการค้นคว้า  การสนทนาในคลาสและนำเสนอผลงานผ่านการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ

6. วิธีการ/ขั้นตอน หรือกระบวนการที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ใช้  ผู้มีส่วนร่วม อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน และแนวทางการแก้ไข
ในวิชา INT 251 ประวัติศาสตร์ตะวันตกศตวรรษที่20-21นี้ มีผู้สอนร่วม2ท่านคือ รองศาสตราจารย์ พิศประไพ สาระศาลิน เป็นผู้สอนหลักและเป็นผู้กำหนดแนวทางการสอนและเป็นผู้บรรยายบทเรียนในแต่ละครั้ง และอีกท่านคืออาจารย์ ต้นข้าว นิทัศกาญจนานนท์ เป็นผู้สอนร่วมซึ่งดูแลและสนับสนุนในส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกับการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งแนวทางการสอนในวิชานี้เป็นที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นในการมุ่งพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนเป็นแกนหลัก ผ่านกิจกรรมและเนื้อหาที่ประกอบไปด้วยกลยุทธ์การสอนหลายส่วนดังนี้ 
ก.กลยุทธ์ที่ให้ผู้เรียนตระหนักถึงการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งมีบทบาทต่อการเรียนรู้ในโลกปัจจุบัน ผ่านการประยุกต์ใช้ในวิชาประวัติศาสตร์ตะวันตกอันเป็นวิชาที่ผู้เรียนในสาขาออกแบบภายในระดับชั้นปีที่สองต้องเรียนรู้ โดยผู้สอนทั้งสองท่านได้บรรยายและแทรกการสอนภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ80ของการเรียนการสอน
ข.การแทรกกิจกรรมด้วยโจทย์ที่ท้าทายความสามารถการใช้ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในรูปแบบต่างๆอาทิ ให้นักศึกษานำเสนอผลงานที่ต่อยอดจากความรู้และแนวคิดทฤษฎีสู่การออกแบบชิ้นงานสร้างสรรค์และนำเสนอแนวคิดด้วยการใช้ภาษาอังกฤษภายในคลาส และยังทวีอรรถรสการเรียนรู้ด้วยการถามและโต้ตอบภายในชั้นเรียนอย่างน่าสนใจอีกด้วย
ปัญหาอุปสรรคในรายวิชาและแนวทางแก้ไข
เนื่องจากการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จะเน้นหนักไปทางเนื้อหาบรรยายที่เป็นทฤษฎีสูง จึงทำให้ภาพของกิจกรรมการเรียนการสอนที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษประสบปัญหาในบางครั้ง ผู้สอนจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบให้ต้นชั่วโมงของการเรียนในแต่ละสัปดาห์เริ่มด้วยการบรรยายและมีกิจกรรมในท้ายชั่วโมง หรือสร้างกิจกรรมเชิงทดลองให้นักศึกษานำเสนอผลงานด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยเทคนิคต่างๆที่น่าสนใจเช่น การนำเสนอแนวคิดของนักศึกษาด้วยรูปแบบวีดีทัศน์ประกอบการบรรยายหรือการแสดงละครสั้นแทรกบทสนทนาภาษาอังกฤษ ในบางกรณีที่ผู้เรียนไม่กล้าแสดงออกหรือมีทัศนคติต่อการสื่อสารภาษาเช่น ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกภายในชั้นก็มีแนวทางที่สามารถพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยเทคนิคการอัดคลิปบรรยายประกอบภาพสไลด์ในบางโจทย์ที่เกิดขึ้นของรายวิชา
7. ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
ผู้สัมภาษณ์เคยเข้าไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชานี้โดยตรงเองสองถึงสามครั้ง  สัมผัสได้ถึงการเรียนที่กระตุ้นพลังการเรียนรู้อย่างน่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นกับทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อมกัน และในแต่ละปีรายวิชานี้ได้ปรับทิศทางกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดีขึ้นในแต่ละปีอย่างเป็นรูปธรรมโดยลำดับ  

การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาและกระตุ้นการเรียนรู้ผู้เรียนในวิชาประวัติศาสตร์การออกแบบภายในตะวันตกจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่ใช่อุปสรรคที่นักเรียนไทยจะเข้าถึงได้ยากอีกต่อไป ด้วยการเปิดมิติการเรียนรู้ที่ผสานทฤษฎีทางประวัติศาสตร์และกิจกรรมการเรียนอย่างสนุกสนานเข้าด้วยกันอย่างได้ผลและแยบยล  ด้วยบทเรียนที่สร้างการสนทนาให้คิดและค้นคว้า  การแสดงละคร การพูดโต้ตอบ  การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้รับรู้และสัมผัสแนวคิดการออกแบบในอดีตด้วยการพัฒนาศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น

Prada กับ Unconventional Thinking ความงามในปัจจุบันที่ขายได้ด้วย...

บทความโดย : ปรียา สุธรรมธารีกุล
อาจารย์ประจำ สาขาแฟชั่นดีไซน์
คณะศิลปะและการออกแบบ
มหาวิทยาลัยรังสิต


“การที่สินค้าขายได้นั้น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉัน เป็นสิ่งที่ฉันไม่ทิ้งผู้สวมใส่ ทั้งเรื่องความปรารถนา และ ความต้องการเสื้อผ้าสักตัวนึง…ฉันอยากประสบความสำเร็จ ทั้งด้านสร้างสรรค์ และการค้า ด้วยตัวของฉันเอง ฉันทำงานร่วมกับศิลปิน ด้วยความคิดที่ลึกซึ้งเรื่องชีวิต โลก และมนุษย์ ศิลปินได้แบ่งปันความคิดที่ฉันรัก ด้วยความเข้าใจ และทำความคิดที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ และค้นหา ความคิดใหม่ๆ ด้วยวิธีการคิดใหม่ๆ” (Schiaparelli &Prada, 2012)
Miuccia Prada นักออกแบบแฟชั่นชาวอิตาเลี่ยน และ เจ้าของแบรนด์Prada และ Miu Miu เธอเป็นนักออกแบบสร้างสรรค์และการค้าที่มีความสมดุลย์ “...ความคิดสร้างสรรค์ กับการค้า เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่ง และการจัดการให้สมดุลย์ จึงจะเป็นความสำเร็จที่แท้จริงของบริษัท” (magazine. wsj.com 2014 /24/ 7) Pradaได้รับการยกย่องว่า เป็นผลงาน แนวหน้าร่วมสมัย (Contemporary Avant-Garde) เธอพยายามค้นหาจิตวิญญาณใหม่ เกี่ยวกับความหมายของความงามในปัจจุบัน หากเราศึกษาจากประวัติ ความคิด แรงบันดาลใจ ตลอดจนแนวความคิด และการออกแบบแนวแปลก แต่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันแล้ว คงยอมรับว่าเธอคิดแหวกแนว จริง...

ด้วยความต้องการเป็นนักการเมือง Prada จึงได้ศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ แต่ต้องรับช่วงดำเนินธุรกิจเครื่องหนัง ของครอบครัว เธอจึงศึกษาการออกแบบ กับแนวทางของนักออกแบบที่อยู่รายรอบ และเธอมีความเป็น “ขบถ” (Nihilist) อยู่ในตัว เธอต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ (Wikipedia) และวิญญาณขบถนี้เอง ที่ทำให้เธอมีความกล้าในการแสดงออก นอกจากนี้เธอยังได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มศิลปิน ที่เธอมีเครือข่ายทำงานร่วมกัน เพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจเป็นพลังความคิด ที่ทำให้เธอกล้าที่จะสะท้อนความเห็นของสังคม ผ่านสื่อได้อย่างมั่นใจ
Pradaได้ใช้แนวคิดของปรัชญาการรื้อสร้าง (Deconstruction) ในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง โดยค้นหาความหมายของความงามในปัจจุบัน “...การรื้อความหมายของความงาม แบบเดิมๆ ที่แสดงถึงเสื้อผ้าที่มีความหรูหราของชนชั้นสูง ด้วยการค้นหาความหมายของความงาม ที่หรูหราในยุคใหม่ เป็นประเด็น สำคัญในการสร้างงานของฉัน… และพบว่าความงามของเสื้อผ้าในปัจจุบันก็คือ เสื้อผ้าที่ผู้หญิงต้องการเป็นเจ้าของ นั่นเอง...” (Schiaparelli & Prada, 2012)
แนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของPrada มักจะเป็น ความลำบาก และความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเสมอๆ ไม่ว่าจะลำบากในสถานการณ์ใดๆ ควบคู่ไปกับ ผู้หญิงที่มีบุคลิกต่างๆ อาทิ เช่นผู้หญิง เซ็กซี่ ในประวัติศาสตร์ เรียบร้อย เกย์ นักสู้ แต่จะเป็นชาติพันธุ์ใด ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องราว ที่เธอหยิบยกมา เช่น ผู้หญิงเซ็กซี่ที่เป็นตุ๊กตาหน้ารถ และแทนค่าผู้หญิงเซ็กซี่ด้วยรูปลักษณ์ของ Marilyn Monroeนักแสดงในยุค50s-60sรวมทั้งโครงและรูปแบบของเสื้อผ้า นอกจากนี้เธอยัง ค้นหาแรงบันดาลใจจากศิลปะ ภาพยนตร์ สิ่งรอบตัว เป็นต้น ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่อยากเล่าผ่านเสื้อผ้านั่นเอง
                           
ทีนี้ก็จะมีคำถามว่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ หรือสิทธิสตรีจะนำมาใช้ในการออกแบบอย่างไร ถ้าสังเกตดูให้ดี ส่วนใหญ่เธอก็จะนำมาเล่าบนลายผ้า หรือการออกแบบพื้นผิว และการใช้เสื้อผ้าในเชิงสัญลักษณ์ อยากยกตัวอย่าง คอลเล็คชั่น Spring/Summer 2014 collection ซึ่ง Prada ต้องการจะทำให้ผู้หญิง เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการกดขี่ทางเพศ โดยมีวลีว่า “to be struggle” เธอกล่าวถึงภาพวาดฝาผนัง Mural Painting หรือ Street Art ในแอลเอ เม็กซิโก และอเมริกาใต้ Prada ได้ให้ความสำคัญกับภาพของ Richard Lindner และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจหลัก ทั้งกลุ่มสีและเรื่องราว (Blanks, September19, 2013,vogue.com)
Richard Lindner ซึ่งเป็นศิลปินสัญชาติเยอรมัน-อเมริกัน มีชีวิตอยู่ในช่วงยุค1901-1978 มีผลงานประเภท Pop Art โดย เรื่องราวที่เล่าในภาพ เป็นภาพผู้ชายจับหน้าอกผู้หญิง และผู้หญิงเปลือยอก เป็นส่วนใหญ่ โดยใช้ชื่อภาพ “The Portrait of Woman” เมื่อผู้หญิงเห็นภาพแล้ว น่าจะรู้สึกว่า มันช่างขยี้หัวใจ ซะจริง เห็นว่าเราเป็นเพียง Sex object หรืออย่างไร?
Prada คงคิดไม่ต่างจากเราชาวหญิงหรอก เลยสื่อสารด้วยการเลือกภาพผู้หญิงในรูปแบบการ์ตูน ที่แสดงให้เห็นหลากหลายชาติพันธุ์ ประกอบลงบนเสื้อผ้าด้วยเทคนิคต่างๆ อาทิเช่น การวาด การทอ ในรูปแบบของศิลปะ Pop Art นอกจากนี้ เธอยังใช้รูปลักษณ์ (Signature) ของเธอ ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่ประสานรูปแบบ Sportswear กับ Vintage ตลอดมา เธอเห็นว่าผู้หญิง แกร่ง เข้มแข็ง จึงแทนค่า ความเข้มแข็งของผู้หญิง ด้วยสีของทหารและผ้าหนา เป็นต้น เธอได้ใช้โครงและรูปแบบเสื้อผ้า ของยุค60s ในคอลเล็กชั่นดังกล่าว

ประเด็นสำคัญ ในคอลเล็คชั่นนี้ นอกจากจะสื่อสารด้วยเทคนิคภาพวาดผู้หญิงชาติพันธุ์ต่างๆ (ทีเกี่ยวข้องกับการถูกกดขี่ทางเพศ)แล้ว ยังมีการใช้สัญลักษณ์ คือการใช้เสื้อชั้นในที่ปักจนล้นเกินพอ ซึ่งน่าจะหมายความเกี่ยวข้องกับจากภาพเขียนของ Richard Lindner นั่นเอง...ตรงนี้ต้องคิดเอง...เพราะPradaบอกว่าใครเห็นแล้วน่าจะมีการพูดถึง... และเธอบอกว่า “I want to be nasty” (Mower,September19,2013vogue.com)
แบรนด์ Prada แสดงให้เห็นถึงความพยายามสร้างสรรค์ และการค้า ที่สมดุลย์ เธอให้คำจำกัดความรูปลักษณ์ของผลงานตัวเองว่า “Ugly Cool” ด้วยความภาคภูมิใจ นับเป็นแบรนด์ที่น่าประทับใจ และมี Brand Identity ที่ชัดเจน ทั้งนี้เธอเป็น Fashion designer ตัวอย่างที่ดีด้วย
ของฝากให้นักศึกษา: การศึกษาประวัตินักออกแบบ ผลงานออกแบบ รวมทั้งกระบวนการออกแบบของนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จ เพิ่มเติมจาก ความรู้ที่ได้เรียนมาในสถาบันการศึกษา อาทิเช่น พื้นฐานการศึกษา พื้นฐานความคิด และทัศนคติความชอบของนักออกแบบ รวมทั้งและประสบการณ์แวดล้อม นอกเหนือจากประวัติทั่วไป จะทำให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้ และเข้าใจผลงานของนักออกแบบนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้การศึกษาจากแนวความคิด และ รูปแบบของเสื้อผ้าเพียงส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้ศึกษาอาจเข้าใจได้บ้าง แต่การศึกษาจากข้อมูลในหลายมิติ อาจนำความรู้ มาเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างแบรนด์ของเราได้......

Raf Simons รูปแบบใหม่ บนRunway

บทความโดย : ปรียา สุธรรมธารีกุล
อาจารย์ประจำ สาขาแฟชั่นดีไซน์
คณะศิลปะและการออกแบบ
มหาวิทยาลัยรังสิต


บางคนอาจเป็นแฟน Raf Simons (Belgian designer-Wikipedia.com) เสื้อชาย ต่อมาเค้าก็มาเป็น นักออกแบบเสื้อหญิงของแบรนด์ Jil Sander(แต่ไม่ได้ทิ้งแบรนด์ตัวเอง) แล้วใครๆก็หลงไหลเค้า กับคอลเล็คชั่น Less is more ของJil พอมาอยู่ Dior ผลงานที่เป็นRafๆ งานที่ ลดทอนจากผลงานเดิมของ Dior โดย John Galiano ทำให้เสื้อผ้ามีลุคใหม่ขึ้น ถึงขนาดผู้บริโภคที่มีชื่อเสียงบอกว่า ...ชอบดิออร์ตอน Raf ออกแบบนะ...ฮื่อ
Raf เอง เค้าชอบทำงาน ที่ได้มีโอกาสพัฒนา คิดแล้วคิดอีก และไม่ชอบจบงานเร็ว พอต้องทำ 6 คอลเล็คชั่นในหนึ่งปีให้กับDior แล้วยังงานแบรนด์ตัวเองอีก ไม่ไหวๆ เค้าบ่นว่า “.....มาดูงานตัวเองทีหลังแล้ว ถ้าทำได้อยากดึงบางชุดออกจากการโชว์จริงจริ๊ง.....” (ช่าย จริงๆ ต้องดึงออก หลายตัวเลย 555 เอิ๊ก เอิ๊ก) 

พอมาทำงานกับ Calvin Klein ก็ทำงานซะฮื่อ....หวือหวาเลย โชว์ เสื้อสั้นเต่อ ปิดโค้งหน้าอก ด้านล่างไม่มิด..sexiest (เหมือนนักศึกษาตัดเสื้อผิดสัดส่วนเลย 555) หวือหวามากกกค่า

ส่วนผลงาน เสื้อชายแบรนด์ Raf Simons ฤดูกาล Spring/Summer 2018 ก็ดูหนักหนาเสียเหลือเกิน ก็ชอบนะ สมกับการเกิดแฟชั่นชายพันธุ์ใหม่เลย-Replication (Leitch,Luke.Vogue.com-July12, 2017) Post-Apocalypse (Johnson, Noah. GQ.Com-July 2017) น่าจะเหมือนหนังที่เป็นแรงบันดาลใจ-“Blade Runner 2049” ฉากที่มนุษย์พันธุ์ใหม่เพิ่งเกิด น่ากลัวมาก แล้ว....ก็มีเสียงพูดที่ว่า “Happy Birthday” แค่ดูแค่โฆษณา ก็ หัวเราะไม่ออก
นอกเหนือ จากภาพยนตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจแล้ว Raf เอง ก็อยากนำเสนอผลงานแฟชั่น ที่แสดงการประสมประสานวัฒนธรรมหลากหลาย และ ความเป็นอยู่ รวมทั้ง เครื่องแต่งกาย ของชาวตะวันออกและตะวันตก ที่ได้เห็น มาจากการทัวร์ตะวันออก ภาพของคนทำงานข้างถนน ชนชั้นกรรมกร ทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย....จึงทำให้เกิดเป็นเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นนี้ และใช้บรรยากาศ ในภาพยนตร์ มาโชว์ผลงานที่ China town ใต้ Manhatton Brigde ในนคร New York (แถมกลิ่นปลา แหวะๆ... ทำเป็นรู้...ก็ค้นคว้ามาน่ะสิจ๊ะ) แล้วเค้ายังได้ร่วมงานกับ Peter Saville, Graphic designer ที่ออกแบบปกอัลบัมเพลงวง New Order(Post Punk) และใช้เป็นลายพิมพ์ ที่อยู่บนเสื้อคอลเล็คชั่นนี้ด้วย ผลงานที่โชว์ ก็เลยดูหนักๆ ยิ่งดูกดดันไงก็ไม่รู้


นายแบบ และนางแบบสวมเสื้อผ้าลุคเอเชียน ประสมประสาน กับ ฝั่งตะวันตก
ถ้าไม่ดูฉาก ไม่รู้เรื่องเล่าก็จะชมไปเรื่อยๆ ชอบ มากๆ แปลกตาจริงๆ ทั้งตื่นตาตื่นใจจ้ะ (...over..) เห็นRaf สร้างงานใหม่ๆ โดยที่เค้าฉีกแนว ให้เราเห็นบ่อยๆ แล้วเราจะพูดว่า “Happy Birthday คอลเล็คชั่น ใหม่ .....ชอบนะจ๊ะ” พูดใสๆให้กับ คอลเล็คชั่นนี้ได้ 
แต่พอเค้าเล่าให้ฟัง ดูหนังตัวอย่าง...2049 และดูโชว์แล้วสิ เครียดน่ะ...... 
แล้วก็.....Raf ขอบอก เสื้อผ้าคอลเล็คชั่นนี้เป็น “...Juxtaposition ที่ เล่าเรื่องราวที่ผ่านมาในวัยเด็กด้วย แนวคลื่นลูกใหม่ ทัศนคติของพังค์ ไม่สวยงาม หลากหลาย แรงๆ และ มีพลัง....” (นี่ขนาดเค้าไม่ได้เรียน แฟชั่นโดยตรงนะ...เค้าเรียนFuniture Designมา Rafเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ และการฝึกงาน ยังทำงานได้ขนาดนี้ ต้องดูตัวอย่างไว้ค่ะ)....ยังเครียดอยู่เลย....ต้องปล่อยวางๆ.........555

Sicilians Do It Better: Dolce & Gabbana Present Their Alta Moda in Palermo

บทความโดย : ปรียา สุธรรมธารีกุล
อาจารย์ประจำ สาขาแฟชั่นดีไซน์
คณะศิลปะและการออกแบบ
มหาวิทยาลัยรังสิต


(กำลังพูดถึงAlta Moda หรือ แฟชั่นชั้นสูง ของฝ่ายอิตาเลียน หรือ Hâute Couture ฝ่ายฝรั่งเศส)
vogue.com (July 9,2017)

ทำไม Luke Leitch ถึงพูดแบบนี้ “Sicilians Do It Better: Dolce & Gabbana……” ถือโอกาสแชร์ให้นักศึกษาแล้วกันค่ะ

ดูงานล่าสุดของ Dolce&Gabbana Alta Moda แล้วทำให้นึกถึงรูปภาพของแฟชั่นในอดีต ยุควิคตอเรียน เห็น แฟชั่นชุดออกงาน Drop-Shoulder ของ Chrales Federick Worth (นักออกแบบเพศชาย ที่ออกแบบแฟชั่นหญิง ชาวอังกฤษในยุควิคตอเรียนที่ มีอิทธิพลต่อแฟชั่นฝรั่งเศสและยุโรป) แล้วยังมี Silhouette ของชุดที่สวมสุ่ม (Crinoline) ใหญ่ๆในยุควิคตอเรียน และนักออกแบบ หลายคน หลายชาติ เอามาใช้เป็น Silhouette อย่างสนุกสนาน เช่น Yohji Yamamoto พอจะนึกออกนะคะ
แต่ดิช้าน คงไม่รู้ใจ Luke Leitch (นักเขียนวิจารณ์แฟชั่นใน Vogue.com) แต่ก็เห็นว่าชื่นชม Dolce&Gabbana ม๊ากมาก ถ้าอยู่ข้างLuke ก็คิดว่าสีสัน ความสนุกสนาน ความอลังการณ์ และความกล้าของแบรนด์นี้ กระตุ้นความรู้สึก ของผู้ชมให้ตื่นเต้นได้ดีมาก ถ้าเราดูให้ลึกลงไป ในการออกแบบพื้นผิว ก็เห็นได้ว่านักออกแบบมีความเอาใจใส่การปักประดับ มีงาน Patch work, ผ้ายกดิ้นเงินทอง (ตาด- Brocade) เป็นต้น ลวดลายของพื้นผิว มาจากลวดลายในโบสถ์ของKing William II แห่ง Sicily นั่นเอง แต่ก็นั่นแหละ Hâute Couture และ Alta Moda ก็เอาใจใส่พอๆกัน จะตัดสินว่าใครทำได้ดีกว่า คงยาก ฝ่ายอิตาเลียน น่าจะอยู่ที่ความสนุกสนาน หรูหรา อลังการณ์ มีเรื่องเล่าบนผ้า การทอผ้า และการปักประดับ รวมทั้ง Accessories มากกว่า มั้ง แต่ Hâute Couture ก็มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วย แต่ก็ยังคงงานมืออยู่ อย่างของ Iris van Happen ส่วนเรื่องอื่นๆก็…..อึมม…..เอ….หรือเป็นTrendของDolce&Gabbana…จริงด้วย Dolce พูดว่า “….what you need in fashion now is beauty”
อันที่จริง เค้าก็เทพนะ น่าชื่นชม Dolce&Gabbana ตรงที่สามารถคงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้ตลอดมา ตั้งแต่ประมาณปีคศ.2000 (ก่อนหน้านั้นหาทางอยู่) Dolce&Gabbana คงCharacter ของ เจ้าหญิง หรือ คุณนายสาว ที่รวยมากๆ สวยมากๆ สืบเชื้อสายชอบทองแบบชาวโรมัน (ขอนอกเรื่องอีกหน่อยนะ ชาวโรมันแต่ไรมาก็ชอบทองนะ รองเท้ายังทำด้วยทองเลย จำได้ไม๊ และช่วงประมาณ ประมาณก่อนยุคกลาง ตอนที่โรมันยึดเมืองConstantinople-Istanbul,ประเทศตุรกีในปัจจุบันได้ โรมันก็ได้รับ วัฒนธรรมของชาติอาหรับมาด้วย ศิลปะวัฒนธรรมที่เคยเรียบๆ ก็มีสีสัน อลังการณ์ด้วยทองมากขึ้น ช่วงนั้นนักประวัติศาสตร์เรียกว่ายุคByzentine มีภาพประดับฝาผนังเป็น Mosaicทอง) และสถานที่แสดง Alta Moda และแรงบันดาลใจของ Dolce&Gabbana ครั้งนี้ ก็เป็นโบสถ์ Monreale ที่พระเจ้า William II สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากยุคByzentine ตอนนั้นศตวรรษที่12 Sicilian King พระองค์นี้ก็ได้เชิญ สถาปนิก คนเก่งจากเชื้อชาติฝรั่งเศส-Norman ชาวเวียนนา และชาวอาหรับ มาออกแบบด้วยความชาญฉลาด และมีการใช้ทองคำบริสุทธิ์ ในการตกแต่งถึง2,200 กิโลกรัม เลย Luke เค้าเล่ามา555 
อีกอย่างนึง Dolce&Gabbana ก็น่าชื่นชม เค้าได้นำเอาเรื่องราวของชาว Sicilians และวัฒนธรรม มาเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้มีเรื่องราวให้เล่าบนเสื้อผ้ามากมาย และสนุกสนานด้วย ยังจำได้ที่เค้าใช้พืชผัก ดอกไม้.....และความหรูหราอลังการณ์ของโบสถ์วิหาร มาเป็นลายผ้าในอดีต (หรือ เป็นเพราะความเชื่อ ในเรื่องเทพ ของชาวอิตาลี ข้าว พืชผัก ก็มีเทพีนะ) คราวนี้ก็เหมือนกัน ใช้แรงบันดาลใจจากโบสถ์วิหาร มาสร้างสรรค์อย่างหรูหราอลังการณ์ อีกรูปแบบหนึ่ง แล้วเค้าก็เป็นเทพ นักการตลาดนะ ก็ดูสิ เค้าขายอะไร ก็อยู่บนรันเวย์หมด ไม่ว่า ชุดชั้นใน รวมD&G ด้วย แล้วยัง เชิญBuyer มาชมก่อนโชว์ด้วยนะ กันการก๊อปปี้ จากคนชอบก็อปค่ะ แล้วยังเชิญผู้มีอิทธิพลชาติต่างๆมาในงาน อีกทั้งนางแบบนายแบบ มาริโอ นักแสดงไทย จีน ญี่ปุ่น ยังมาเป็นนายแบบเลย ดูสิ กี่ชนชาติน่ะ (และคราวนี้เอาผัก ใส่ตระกร้ามาด้วย 555) 
เอาหละ จบดีกว่า เดี๋ยวเบื่อ ถึงแม้สีสันใน Fall/Winter 2017 ของ Dolce&Gabbana, Alta Moda คราวนี้ ดูเป็นคานิวาลไปหน่อย ก็เถอะนะ ถึงใครจะมาว่าหนูลิเก ก็ลิเกมีคลาส อย่าดูถูกกันดีกว่านะคะ เค้าเรียกว่า Opera Costume จ้ะ หนุกดีนะ 555

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เจริญกรุง กรุงเทพมหานคร

              พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ตั้งอยู่ที่ ซอยเจริญกรุง 43  เจ้าของบ้านคือรองศาสตราจารย์วราพร สุรวดี ซึ่งปัจจุบันนี้อาจารย์ได้เสียชีวิตลงแล้ว  เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับการมาเที่ยวบ้านคุณยาย ทั้งความสงบ ร่มเย็น อาคารสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน 
             ซึ่งความประทับใจของวันนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่เราจะถึงที่หมาย เมื่อเข้าสู่ถนนเจริญกรุงก็มีกลิ่นอายของความเป็นไทยในอดีตผสมอยู่ เหมือนค่อยๆ ปูพื้นความรู้สึกก่อนที่จะเข้ามาที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกนั่นเอง ฉันเชื่ออย่างนั้น
วันนั้นที่ฉันไป ฉันมีบัตร Muse Pass อยู่ในมือ ฉันก็เลยได้รับสติกเกอร์ของพิพิธภัณฑ์มาอีก ๑ ดวง แต่ปกติที่นี่ก็เปิดให้เข้าชมฟรี แต่การที่ได้รับสติกเกอร์นั้นมันเหมือนเป็นความภูมิใจว่าเราได้พิชิตพิพิธภัณฑ์ได้กี่แห่งแล้ว แต่สุดท้ายเวลาว่างก็ไม่เอื้อให้ฉันพิชิตได้ตามที่ใจต้องการ
          บริเวณบ้านก็เขียวขจี มีต้นไม้น้อยใหญ่ปลูกอยู่ตั้งแต่บันไดบ้านจนถึงริมรั้ว รั้วบ้าน ประตูรั้วก็เป็นแบบสมัยก่อน น่าถ่ายภาพเก็บไว้เป็นอย่างมาก เราสองคนถ่ายรูปมุมนี้ที มุมนั้นที ถ่ายรูปกันสนุกสนาน คุยกันอยู่ว่าเหมือนละครเรื่องนั้นเรื่องนี้เลย (ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นที่ถ่ายละครหลายเรื่องเช่นกัน) ถ้าเราเกิดสมัยก่อนมีบ้านแบบนี้ก็จัดว่าเป็นคนมีฐานะเลยนะ เราคุยกันเหมือนกับว่านี่ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์แต่อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า เหมือนเรามาบ้านคุณยาย
            หลังจากที่ถ่ายรูปกันเหนื่อย เราก็มานั่งพักกันที่ศาลาเป็นศาลาที่อยู่ระหว่างเรือน ถ้าเราหลับได้นี่เราคงพร้อมหลับกันแล้ว (เป็นศาลาที่เย็นสบายมากจนเราวางอุปกรณ์ทุกอย่าง และรับเอาความผ่อนคลายเข้าร่างกาย จนลืมถ่ายรูปมา) แต่มีน้องนักเรียนกลุ่มหนึ่งมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เหมือนกัน เราจึงต้องเรียบร้อยขึ้นทำเหมือนมาบ้านคุณยายไม่ได้แล้ว
                                     

              มาดูห้องครัวกันบ้าง (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถ่ายรูปมาแค่มุมเดียว) มีอุปกรณ์ทำครัวแบบสมัยก่อนครบถ้วน การจัดวางเหมือนกับมีการใช้งานจริง เราก็เล่นโน่นนี่สนุกสนานกันเช่นเดิม (เมื่ออยู่กัน 2 คน)
มีเครื่องพิมพ์ดีด และโทรศัพท์แบบโบราณให้เล่นด้วย นึกว่าตัวเองเป็นข้าราชการสมัยก่อน 
             หนังสือหลายเล่มเป็นหนังสือหายากที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ สามารถหยิบดูเปิดอ่านได้เลย ซึ่งเรือนหลังนี้เชื่อมกับเรือนหลังที่อาจารย์วราพรพักอยู่ เจ้าหน้าที่บอกว่า “อย่าส่งเสียงดังนะครับ” เราก็ปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด

ชั้นล่างของเรือนหลังนี้มีภาพวาดสวยๆ หลายภาพ และมีหลายแนวด้วย
             อีกทั้งอาหารแถวเจริญกรุงก็มีให้เลือกอย่างหลากหลายสำหรับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ไปแล้ว อยากไปอีกมากกว่าหนึ่งครั้ง บรรยากาศน่าอยู่ สบายตา ถ้าบ้านเราอยู่แถวนั้นคงจะไปบ่อยกว่านี้แน่ๆเลย ถ้าใครมีเวลาว่างสักครึ่งวัน พิพิธภัณฑ์บ้านบางบางกอกเป็นอีกที่หนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง









เรือเกลือลำสุดท้ายที่ไปดาวคะนอง


"บ้านของพี่ทำนา ปลูกข้าวทุกเมื่อ
น้องก็ทำนาเกลือ ขายเกลือนั้นซื้อข้าวกิน
บ้านของพี่อยู่ที่กาฬสินธุ์
ส่วนตัวยุพินอยู่สมุทรสาคร"
            เพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือเพลงนี้กำลังจะเหลือแต่เพลง เพราะเรือเกลือลำสุดท้ายที่แล่นไปเกือบถึงดาวคะนองกำลังโรยแรงแล้ว 
         ผมโชคดีมากที่ครั้งหนึ่งด้วยความนึกสนุกอยากตามรอยบรรพบุรุษจึงขอตาวัฒน์นายท้ายเรือเกลือลำสุดท้ายที่แล่นไปเกือบถึงดาวคะนอง(ปัจจุบันมีประตูกั้นคลองที่จะไปดาวคะนอง) ตาวัฒน์ไม่ปฏิเสธแต่เล่าถึงความยากลำบากในการเดินทางที่ต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงจากคลองสุนัขหอนบางโทรัดถึงโกดังเกลือแถวพระรามสอง ในขณะเดียวกันต้องทนอยู่ท้ายเรือแคบๆที่พอนั่งได้ในร่มไม่เกิน 3 คน ซึ่งความกังวลของตาวัฒน์ลบความอยากรู้อยากเห็นของผมไม่ได้
     เราเริ่มเดินทางจากคลองสุนัขหอนตำบลทางโทรัดตั้งแต่เช้าตรู่ ตาวัฒน์ให้ผมนำขนมน้ำติดตัวมาด้วย ส่วนกับข้าวกับปลาตาวัฒน์ใจดีเป็นคนเลี้ยง
     เรือเกลือแล่นไปในลำคลองด้วยความเชื่องช้า ผมถ่ายรูปถามนั้นถามนี้ด้วยความสนใจ ขณะที่ตาวัฒน์ตอบด้วยความยินดี เพราะการสนทนาฆ่าเวลา 8 ชั่วโมงได้  
ตาวัฒน์เล่าว่าการเป็นนายเรือเป็นความใฝ่ฝันของเขาตั้งแต่เป็นเด็กเรือ หรือผู้ช่วยนายท้ายเรือ สะสมประสบการณ์ ครูพักลักจำจนชำนาญ เมื่อโตขึ้นเก็บเงินมากพอก็ซื้อเรือเกลือประกอบอาชีพค้าเรือเกลือ 
     ตาวัฒน์บอกผมว่า การเป็นนายท้ายเรือไม่มีใครสอน ทุกอย่างต้องจดจำและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องรู้ใจสายน้ำ จดจำนิสัยคลองได้ น้ำเหนือมาสีมีน้ำตาลเทา น้ำทะเลขึ้นมีสีเขียวเข้ม น้ำวังกุ้งปล่อยมามีสีแดงส้ม เป็นสัญญาณว่าน้ำขึ้นออกเรือได้ คลองนี้มีกี่คดกี่โค้งต้องรู้ ช่วงโค้งไหนน้ำแรงน้ำเบาต้องระวัง จุดไหนมีตอไม้เรือจมต้องเตรียมตัว 
       8 ชั่วโมงของการเดินทางจากคลองสุนัขหอนเข้าแม่น้ำท่าจีนสู่คลองมหาชัย และจบที่คลองสนามชัยแถวพระรามสองเพื่อนำเกลือขายให้โกดังเกลือนั้น เราผ่านสายน้ำหลากอารมณ์ บางช่วงเขตชุมชนสายน้ำก็หมองคล้ำซึมเศร้าไปด้วยขยะจากชุมชน โดยเฉพาะช่วงใดมีประตูน้ำ เราต้องรอนายประตูเปิดให้เพื่อขออนุญาตนำเรือผ่าน บางช่วงสายน้ำสดใสร่าเริงไปด้วยฝูงนกหมู่ปลาแมกไม้เพราะห่างใกล้ชุมชน โดยเฉพาะช่วงแม่น้ำท่าจีนจะคึกคักไปด้วยเรือเดินสมุทรและเรือประมงที่จอดตลอดคุ้งแม่น้ำแถวมหาชัย ขณะที่เขาเขตพระรามสองคลองจะแคบตลอดแนวและเต็มไปด้วยชีวิตชีวาของผู้คนและบ้านคลอง
      น่าเสียผมคงเป็นคนสุดท้ายที่จะได้บอกเล่าความทรงจำนี้ การเดินทางไปกับตาวัฒน์ครั้งนั้นผ่านมาแล้ว 6 ปี เวลานี้ตาวัฒน์อายุมากแล้วและสุขภาพก็ไม่แข็งแรงพอที่ะจะล่องเรือค้าเกลือได้ ส่วนลูกหลานของตาวัฒน์และคนสมุทรสาครก็ไม่มีใครล่องเรือไปค้าเกลือที่กรุงเทพฯแล้ว เวลานี้เหลือแต่เรือเกลือเศร้าๆที่รอขายให้ร้านอาหารเท่านั้น

บาตรบุ ที่บ้านบาตร แถวบ้านนายศร ศิลปะบรรเลง

เสียง โป๊กๆๆ เป๊กๆๆ ดังออกมาจากชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย หรือคนทั่วไปเรียกว่า “บ้านบาตร” ชุมชนเก่าแก่แถวถนนบำรุงเมืองแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่ปรากฎหลักฐานที่มาอย่างแน่ชัด มีเพียงเสียงจากชาวบ้านที่เล่ากันปากต่อปากว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ.2310 โดยประมาณ


ลุงอมร กำลังเชื่อมประสานรอยตะเข็บบาตร


ชาวบ้านกำลังทำความสะอาดบาตรปั้มเก่าที่รับซื้อมา บาตรปั้มคือบาตรที่ปั้มขึ้นมาจากแผ่นโลหะ ราคาจะถูกกว่าบาตรบุ
                         ป้าอารี สายรัดทอง ชาวบ้านบาตรเล่าให้ฟังว่าตนเองนั้นเกิดที่นี่ คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพทำบาตรพระ ก็ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำบาตรพระตั้งแต่เด็กๆ หลังจากพ่อแม่เสียป้าก็เป็นคนสืบทอดต่อมา โดยป้ายึดอาชีพทำบาตรพระมา 60 ปีแล้ว เริ่มทำตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2400 กว่าๆ ก็จะส่งขายให้พระหรือไม่ก็ชาวต่างชาติ สมัยเมื่อ 20-30 ปีก่อนชาวต่างชาติจะนิยมซื้อเป็นของที่ระลึกเพราะของที่ทำจากมือมันมีคุณค่ามาก จากเหล็กแผ่นเดียวประกอบกันขึ้นเป็นรูปทรงกลมเป็นบาตรพระได้ บาตรที่บ้านบาตรนี้มีหลายรูปทรงหลากหลายและตั้งชื่อรูปทรงแตกต่างกันไปตามลักษณะของบาตรไม่ว่าจะเป็น “ทรงไทยเดิม” “ทรงตะโก” “ทรงมะนาว” “ทรงลูกจัน” “ทรงหัวเสือ” ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้เกิดจากบรรพบุรุษสืบทอดกันมาต้องแต่สมัยอยู่ที่อยุธยา ก่อนจะย้ายมาที่นี่ ซึ่งที่อยุธยายังมีคลองชื่อ “คลองบ้านบาตรพระ”
                       ชาวบ้านบาตร ยังคงเอกลักษณ์การทำบาตรด้วยมือมาจนถึงปัจจุบัน
                  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านบาตร คือศาลพ่อปู่ ซึ่งมีลักษณะภายนอกเหมือนกับศาลพระภูมิทั่วไปแต่รูปเคารพภายในจะเป็นเหมือนแท่งไม้หรือแท่งเหล็กสองแท่งตั้งเคียงคู่กันจะมีไม้เป็นคันชักเพื่อสูบลมจากภายนอกเข้าไปในเตาชาวบ้านเรียกว่า “เตาสูบ” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเผาบาตรในสมัยก่อน เครื่องมือทำมาหากินเหล่านี้ชาวบ้านบาตรถือว่าเป็นสิ่งสักดิ์สิทธิ์มีครูบาอาจารย์ต้องเคารพกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อการทำบาตรเปลี่ยนไปไม่ได้ใช้เตาสูบแล้ว แต่ชาวบ้านบาตรยังคงให้ความเคารพ ประจวบกับเรื่องเล่าตำนานพ่อปู่ที่สืบทอดกันมาว่า มีคนเคยฝันเห็นชายรูปร่างสูงใหญ่นุ่งขาวห่มขาว เกล้าผมมวย จึงได้ปั้นขึ้นรูปองค์พ่อปู่โดยใช้ดินเหนียวจากป่าช้า จนมีเรื่องเล่าถึงอิทธิของพ่อปู่ว่า เมื่อครั้งเกิดเหตุไฟไหม้บ้านดอกไม้ที่มีอาชีพทำดอกไม้ไฟบริเวณใกล้เคียงกับบ้านบาตร พลุไฟได้ลอยมาในบ้านบาตร มีหญิงชาวจีนซึ่งเป็นคนนอกชุมชนได้เห็นคนแก่นุ่งขาวห่มขาวเกล้าผมมวยถือพัดอันใหญ่ยืนอยู่บนหลังคาค่อยพัดไฟมิให้เข้ามาไหม้ในบาตรบาตร ทำให้ชาวบ้านบาตรเชื่อถึงความขลังและความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น
                             
เสียงทุบบาตรยังคงดังกึกก้องอยู่ในบ้านบาตรตราบที่ลมหายใจของชุมชนนี้ยังคงอยู่
อ้างอิง
จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๖
http://www.banbatt.com
ผู้เขียนบทความ : ธนัท ชยพัทธฤทธี