เทรนด์แรง สินค้ารักษ์โลก


ไม่ใช่แค่อินเทรนด์ แต่สินค้ารักษ์โลกถือเป็นความหวังในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ไม่ให้ซ้ำเติมให้โลกใบนี้จนกลายเป็นฮีทเตอร์ไปเสียก่อนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้กำลังไม่สบายตัวเพราะพิษไข้ ตอนแรกก็แค่ไข้รุมๆ ไม่หนักหนาอะไร แต่ตอนนี้วัดอุณหภูมิแล้วไข้สูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 1-2 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อาการที่โลกป่วยนี้กระตุ้นเตือนให้มนุษย์ผู้อาศัยต้องหาทางเยียวยารักษา หากอยากจะอยู่ไปด้วยกันนานๆ ซึ่งข่าวดีก็คือ วันนี้ภาพการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดโลกร้อนเริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การใช้สินค้าที่ผลิตจากแมททีเรียลที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดใช้พลังงานในการผลิต และเน้นวัสดุเหลือใช้มาผลิตสิ่งใหม่กำลังเป็นที่นิยม เรียกว่าเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ก็ว่าได้ ใครเท่จริงต้องมีข้าวของเหล่านี้ประดับข้างกายหรือมีใช้ที่บ้าน แสดงความเป็นนักอนุรักษ์ตัวยงอวดใครต่อใครได้อย่างโก้เก๋ นอกจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสนับสนุนสินค้าสีเขียวจะเป็นการช่วยโลกได้แล้ว ตัวผู้ใช้ยังถูกมองในฐานะแฟชั่นนิสต้าที่อินเทรนด์ไปกับกระแสรักษ์โลกที่กำลังมาแรง
 สินค้ารักษ์โลก
 ส่วนประเทศไทยเองก็เริ่มมีกับเขาแล้วเหมือนกัน แม้จะยังไม่มากอย่างใจหวัง แต่ที่ผ่านมามีหลายคนเอาแนวคิดเหล่านี้มาผลิตสินค้าเพื่อเสิร์ฟคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นร้าน Eco Shop ของนายแบบ-นักแสดงชื่อดัง ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ที่ผันตัวเองมาสวมหมวกนักออกแบบและผู้บริหารของร้านขายผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน ซึ่งภายในร้านนำเสนอสินค้าพัฒนาจากสิ่งของเหลือใช้ทั้งกระเป๋า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน พร้อมเปิดเวทีให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่มีพื้นที่ในการโชว์ผลงานได้ด้วย 
 "ของทุกชิ้นผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดีแต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย และที่บอกว่าเป็นเวที คือเราอยากให้ใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ แม่บ้าน นักศึกษา หรือนักออกแบบ ก็สามารถออกแบบและทำสินค้ามานำเสนอผม เพื่อมาวางขายในร้าน Eco Shop ได้ หรือนักศึกษาเองก็สามารถมาหาความรู้หรือแรงบันดาลใจจากที่นี่ได้"  คำบอกเล่าของท็อป -พิพัฒน์ ที่เคยกล่าวผ่านสื่อต่างๆ เมื่อครั้งเปิดตัวร้าน
 หรือจะเป็น กลุ่มโนโฟม ของเชียงใหม่ โดยผู้นำหัวใจสีเขียวอย่าง อรช บุญ-หลง ก็เริ่มก่อร่างสร้างกลุ่มคนหัวใจรักษ์โลกด้วยการมองกระแสอนุรักษ์ในบริบทของชุมชน ที่เห็นว่าหากต้องการปฏิเสธการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกัน และสิ่งที่เบสิกที่สุดแต่กระจายแนวคิดนี้ได้มากที่สุดก็คือตลาดหรือถนนคนเดินนั่นเอง เพราะเป็นจุดศูนย์รวมวิถีชีวิตของทุกคน ใครๆ ก็ไปตลาด จึงเป็นที่มาของโครงการ “No foam for food” เพื่อรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ขายมีหัวใจสีเขียว โดยเลิกใช้ภาชนะที่ทำจากโฟม แล้วหันมาใช้ห่อกระดาษ ใบตอง หรือกล่องอาหารที่ทำจากชานอ้อยทดแทน
 รวมถึงงานออกแบบกระเป๋ายางรถยนต์ภายใต้แบรนด์ rubber killer ของ สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์หัวใจใหม่ที่เจ้าตัวบอกว่าไม่ได้ตั้งใจทำตามกระแส แต่เขามีความผูกพันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนเป็นทุนเดิม ซึ่งสินค้ารักษ์โลกของเขาถูกผลิตมาจากยางรถหลายประเภทที่ใช้แล้ว จากหน้าตาของยางกลมๆ สีดำสกปรก ก็แปลงร่างกลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ได้หลากหลายทั้งกระเป๋าถือ และกระเป๋าสตางค์ ที่สวยงามจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
 คนหัวใจรักษ์โลกเหล่านี้ตอกย้ำว่าวันนี้แนวคิดการอนุรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ จะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติก็คงไม่หลุดความจริงไปมากนัก 'ลดใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่' จึงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของคนยุคนี้
 ผู้ผลิตรักษ์โลก
 การหันมาใช้สินค้าสีเขียว ช่วยกันแยกขยะ ประหยัดน้ำ-ไฟฟ้า หากทำในระดับครัวเรือนนั้นเชื่อว่าคงช่วยลดโลกร้อนและยื้อธรรมชาติให้เสื่อมโทรมช้าลงได้บ้าง แต่นั่นก็ยังไม่มากพอ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมด้วย เพราะจากข้อมูลหลายแหล่งพบว่าโดยเฉลี่ยกรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 42 ล้านตันต่อปี โดยตัวการอันดับต้นๆ ก็คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
 ประเทศไทย ณ วันนี้ มีผู้ผลิตสินค้าในระบบโรงงานที่เลือกจะเปลี่ยนแมททีเรียลหรือกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อลดพลังงานน้อยมาก แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง อย่างสโลแกน 'เลือก ดื่ม บิด' ของน้ำดื่มยี่ห้อหนึ่งที่เรียกเรทติ้งจากคนรุ่นใหม่ได้ดีเยี่ยม เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าแม้แต่นักลงทุนยุคนี้ก็ต้องรู้จักสร้างมูลค่าให้สินค้าของตนโดยการดึงเอากระแสลดโลกร้อนเข้ามาด้วย หากตัดเรื่องผลกำไรและการสร้างภาพลักษณ์องค์กรออกไป การใช้วัสดุใหม่ตัวนี้ก็นับว่าช่วยลดไข้ให้โลกไปได้มากทีเดียว
 หากต้องการให้แนวคิดนี้ให้ต่อเนื่อง ไม่เป็นไฟไหม้ฟางเหมือนประเด็นอื่นๆ ในสังคมไทย ก็ต้องอาศัยการกระตุ้นกระแสรักษ์โลกให้บ่อยขึ้นชนิดที่ว่าอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อไม่นานนี้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้จัดนิทรรศการ “ณ วันนี้และตลอดไป : พลิกมุมใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ขึ้นมาซึ่งสามารถกระตุ้นแนวคิดรักษ์โลกให้คุกรุ่นขึ้นมาในใจของใครหลายคนอีกครั้ง
 หลักใหญ่ใจความของงานนี้ ต้องการเสนอแนวคิดว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ (ในภาคอุตสาหกรรม) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ แต่การทำให้มันยั่งยืนสำคัญยิ่งกว่า ดังนั้นการออกแบบอย่างยั่งยืนอาจไม่ต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวตั้ง ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่คำว่า 'วิถีสีเขียว' หรือ 'เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม' แต่สามารถทดแทนด้วยคำว่า 'น่าสนใจ ท้าทาย ล้ำยุค' เพื่อสร้างสินค้าที่แปลกใหม่ (ให้ขายได้และอยู่รอดได้ในแง่ธุรกิจ) ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อปรับตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
 ในนิทรรศการมีทั้งผลงานจากนักออกแบบต่างชาติและฝีมือคนไทย ชิ้นที่โดดเด่นแปลกตาก็เช่น เก้าอี้ลามินาเรียม ที่มีผิวด้านนอกทำมาจากแผ่นสาหร่ายสีน้ำตาลที่พบได้ตามชายฝั่งมาเป็นวัสดุใช้งานทดแทนพลาสติกและไม้ที่กำลังจะหมดไป หรือ มอส เทเบิล โต๊ะที่สร้างพลังงานในตัวเองจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช หรือผลงานคนไทยอย่าง เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ของ รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และระยะเวลาในการอบผลไม้ อีกทั้งยังผลิตได้ในทุกฤดูกาลในมาตรฐานการส่งออก
 อาจารย์เสริมบอกว่า การอบผลไม้แห้งเพื่อขายเชิงพาณิชย์ในบ้านเรายังไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถส่งออกได้ แถมยังสิ้นเปลืองพลังงาน กล้วยอบแห้งที่ทางการต้องการสนับสนุนให้เป็นสินค้าส่งออก แต่เดิมผู้ผลิตใช้วิธีการตากไว้กลางแจ้ง ซึ่งทำให้มีเศษฝุ่นหรือแมลงวันตอม ผลไม้ก็ปนเปื้อนสิ่งสกปรก พอสกปรกก็เอามาล้างน้ำทำความสะอาดแล้วจึงนำไปอบด้วยแก๊สอีกทีให้แห้ง ขั้นตอนนี้เองที่ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอย่างมหาศาล
 "บ้านเราเป็นเมืองร้อน เรื่องแสงอาทิตย์นี่คิดว่าดีกว่าประเทศอื่นๆ เราก็ควรใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งโรงอบแบบนี้ไม่ต้องใช่แก๊สมาอบซ้ำ ก็ลดการใช้พลังงานลงไปได้จริงๆ เราร่วมกับกระทรวงพลังงานพัฒนาให้เป็นระบบใหญ่ เราเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่พัฒนาให้เป็นระบบใหญ่ อบได้ 500-600 กก. ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงๆ"

 ตอนนี้โรงอบแสงอาทิตย์แนวคิดไทยๆ ถูกส่งต่อไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งอาจารย์เสริมเป็นหัวเรือใหญ่ในการเข้าติดตั้งโรงอบซึ่งมีประมาณ 12 แห่ง ในชุมชน ผ่าน อบต.หรือวิสาหกิจชุมชน
 "ในโครงการนำร่องนี้เราเข้าไปติดตั้งให้ทุกภาค อย่างภาคเหนือก็ติดตั้งไว้ที่โครงการหลวงตามจุดต่างๆ เช่น ดอยตุง ภาคใต้ก็มีหลายที่ ลงไปจนถึง จ.นครศรีธรรมราช ภาคอีสานก็มีที่ จ.นครพนม และอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง คิดว่ามันช่วยสิ่งแวดล้อม ช่วยตรงๆ คือช่วยลดพลังงาน ผลพลอยได้ก็กระจายรายได้ให้คนในท้องถิ่นด้วย"
 นอกจากนี้อาจารย์เสริมยังสะท้อนทัศนะต่อวงการอุตสาหกรรมบ้านเราว่า ตอนนี้ผู้ผลิตยังไม่ค่อยสนใจหรือใส่ใจกับปัญหาดังกล่าว หรือแม้แต่ผู้บริหารนโยบายหลักอย่างรัฐบาลเองก็ไม่ค่อยจริงจัง แต่ถ้าภาคอุตสาหกรรมหันมามองเรื่องนี้มากขึ้นก็น่ายินดีและต้องร่วมมือให้เกิดเครือข่าย ขยายวงออกไปให้กว้าง ต้องขวนขวายหาเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดวัสดุ  ถ้าหลายๆ คนช่วยกันก็ทำ สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น อย่างงานนิทรรศการที่เอาผลงานโรงอบไปเผยแพร่ ก็เป็นอีกก้าวของการพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งต้องกระตุ้นกันให้ต่อเนื่อง
 เรารักษ์โลก
 ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโลกใหม่ยังต้องการแรงใจแรงกายของหลายฝ่ายช่วยกันใส่ไอเดียสร้างสรรค์ ทั้งการพัฒนาแนวความคิด การเลือกใช้พลังงานจากแหล่งที่มีความยั่งยืนและการผลิตสิ่งใหม่ๆ จากแมททีเรียลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือจากเศษเหลือของการผลิตครั้งก่อน ทั้งหมดนี้ล้วนต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันไปเป็นห่วงโซ่
 ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดในวงการนักออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย และเป็นเจ้าของกรีนโปรดักแบรนด์ดัง OSISU ให้มุมมองต่อสถานการณ์เรื่องสิ่งแวดล้อมในภาพกว้างๆ ว่า การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมในไทยตอนนี้ยอมรับว่ามีมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์มาพักใหญ่แล้วแต่ยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ยังไม่ใช่การค้าหรืออยู่รอดได้ในเชิงพาณิชย์
 "ถ้าเป็นลักษณะ commercial ตอนนี้ผมว่ายังน้อยอยู่ คือดีไซเนอร์หน้าใหม่ทำเยอะขึ้น คนจัดอีเวนท์ทำมากขึ้น แต่ปัญหาคือคนที่ทำไม่ใช่เจ้าของธุรกิจ กลายเป็นว่าเขามารณรงค์ให้สังคมช่วยๆ กันทำ แต่คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจดันไม่ยอมทำ ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองนอกเขามีเป็นกฎหมาย เขาชัดเจน ทำแล้วไม่ตลก ทำเป็นเรื่องเป็นราวร่ำรวยกันไปเยอะแล้ว แต่บ้านเราแค่แยกขยะยังทำไม่ได้เลย คนไทยตระหนักรู้นะ รู้แล้วว่าต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่เกิด Action"
 สินค้าเทรนด์รักษ์โลกตามอีโคช็อปต่างๆ เจ้าของแบรนด์ OSISU คาดการณ์ว่าจะมาแน่นอนไม่หายไปไหน เพียงแต่จะมาช้ามาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของไทยไม่ได้ผลิตสินค้าสีเขียวด้วยจิตสำนึก แต่ทำด้วยตัวเงิน เมื่อไม่มีเงินมาขับเคลื่อนก็ไม่มีการผลิต ซึ่งตรงนี้หากทำด้วยจิตสำนึก สินค้าเทรนด์รักษ์โลกจะไปเร็วกว่านี้แน่นอน ซึ่งทางออกต้องอาศัยผู้บริโภคหรือลูกค้าเป็นตัวขับเคลื่อน
 "ต้องเป็นคนในสังคมวงกว้างแล้วล่ะที่ต้องทำ เพราะผู้ผลิตไม่ยอมทำ ลูกค้าต้องเป็นคนที่ทำให้เกิดขึ้น ผมว่าทางที่ดีที่สุดต้องทำแคมเปญให้ความรู้กันมากๆ กับฝั่งลูกค้าหรือผู้บริโภค เพราะว่าตอนนี้ ผู้ผลิตแย่ ไม่ได้เรื่อง ไม่เขยื้อน ไม่ Offer และ Action ตอนนี้กลายเป็น CSR มันเลยไม่ได้ขยายไปว่าทำเป็นธุรกิจได้จริงๆ"
 การจะทำให้สินค้าเทรนด์รักษ์โลกเป็นที่น่าสนใจของคนไทยและสามารถอยู่รอดได้นั้น อาจารย์นักออกแบบท่านเดิมคาดหวังว่าใช้เวลาอีกไม่นาน หากมีกฎหมายนานาชาติออกมาบังคับมากขึ้น ซึ่งภายใน 5 ปีนี้จะมีกฎหมายนานาชาติบังคับให้สินค้าที่ไม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ หากกฎหมายนี้เกิดขึ้นจริงรับรองว่าใน 5 ปีนี้สินค้าบ้านเราก็จะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
 "ประเทศเราเป็นผู้ตามที่ดี ไม่ใช่ผู้นำ มันจะเกิดจากการถูกบังคับให้ทำ ไม่ใช่เกิดจากการที่เรามีจิตวิญญาณที่จะทำ นี่คือ Fact และถ้าอยากให้สินค้ารักษ์โลกเป็นเทรนด์ในบ้านเรานะ ผมว่าเกี่ยวกับสื่อด้วย สื่อต้องพยายามทำให้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่การสงสารโลก แต่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นความเท่ คูล ฉลาด เหมือนสูบบุหรี่คนคิดว่าเท่เขาก็เลยสูบ เราต้องทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นความเท่ ไม่ใช่เป็นเด็กดี คือเด็กสมัยนี้ไม่ได้ต้องการให้ใครมาชมว่าเป็นเด็กดี แต่เขาอยากเท่ อยากเซ็กซี่ ถ้าทำให้เรื่องอีโค่เป็นเรื่องเท่และเซ็กซี่ เป็นเรื่องอินเทรนด์ คนรุ่นใหม่ก็จะซื้อสินค้าเหล่านี้มากขึ้น"
 แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เด็กในวันนี้ก็คือความหวังของโลกอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่ถือเป็นตัวจริงในสนาม ไม่ใช่เพียงแค่รับรู้ในแนวคิดเท่านั้น แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่จะลงมือทำให้ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง และส่งต่อการกระทำนี้ให้ต่อเนื่องยาวนานไปถึงคนรุ่นต่อๆ ไป

แหล่งที่มา : http://www.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น