2 เขตชุมชนศิลปะสร้างสรรค์ สุดยอดแนวคิดจากจีน

ปรากฏการณ์ 798 ติดอาวุธให้ไอเดีย



เป็นทั้งเลขที่ตั้ง และชื่อเรียกของอดีตโรงงานผลิตอาวุธสงครามที่กลายมาเป็นศูนย์ออกแบบสุดฮอตแห่งเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ที่บรรดาครีเอทีฟ หรือนักออกแบบบอกเป็นเสียงเดียวว่าพลาดไม่ได้ “ต่อ สันติศิริ” กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แห่งเอเยนซี่ TBWA จะพาเราไปค้นความหมายของแหล่งผลิตอาวุธทางสงคราม มาเป็นการผลิตอาวุธทางเศรษฐกิจ จากการที่อยู่ในวงการ Design และ Creative เราก็จะได้ยินได้อ่านจากที่โน่นที่นี่ เรื่องปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของ 798 เสมอ ถ้ามีพรรคพวกกันได้ไปเจอ กลับมาก็ต้องพูดว่า “ต้องไปดูให้ได้” มีทั้ง Art Gallery, Studio, Museum, Photography Gallery, Mini Concert, ร้านหนังสือ และ Caf? มีงานศิลป์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และจะได้เห็น Artist กำลังทำงานใน Studios ของเขา ผมเองก็อยากเห็นศิลปะในเมืองจีนว่าเป็นอย่างไรในเวลานี้ เพราะเริ่มมาแรงมาก มีหนังสือเกี่ยวกับศิลปะของเมืองจีนอยู่ทั่วไป และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกขายได้ราคาเป็นล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ดูเหมือนไม่ได้เด่นกว่าเมืองไทยเท่าไรนัก พอได้จังหวะกิเลสสุขงอม ก็กระโดดขึ้นเครื่องบินไปปักกิ่งทันทีกับเพื่อนคอเดียวกัน
ไปถึง 798 แรกๆ ก็ค่อนข้างงงเพราะเขากำลังขุดท่อก่อสร้างกันทั่วทุกแห่ง ดูเหมือนว่ากำลังจะเตรียมพร้อมสำหรับโอลิมปิกมั้ง? บรรยากาศคล้ายกับเดินเข้าไปในโรงงานหรืออุตสาหกรรมเก่าๆ ที่มีโรงงานขนาดย่อมๆ มากมาย ตอนแรกนึกว่ามีแค่ตึกใหญ่ๆ ตึกเดียว เราก็ถามคนแถวนั้นว่า “Gallery อยู่ที่ไหน?” เขาก็ชี้ไปเรื่อยๆ แต่แล้วพอเดินลึกเข้าไปเราก็ค่อยๆ เห็นรูปปั้นที่น่าสนใจตามข้างทาง เช่น ตามต้นไม้มีรูปปั้นคนแก่ยักษ์นั่งอยู่หรือมังกรที่มีตัวเป็นคนและมีสีเหมือนมังกรเร็กเก้ พอเริ่มหลุดเข้าไปในตึกไหนตึกหนึ่ง ซึ่งข้างนอกก็ดูเหมือนโรงงานธรรมดา ข้างในกลับกลายเป็น Space ที่ทันสมัยมาก มีแสงเข้ามาได้อย่างดี งานที่แสดงก็เป็นงานที่เราสนใจ ทั้งที่ๆ ธรรมดาถ้าไป Gallery ทั่วไป เวลาดูงานศิลปะจะเกิดคำถามว่า “เอ๊ะ! มันแปลว่าอะไร?” แต่ว่างานศิลปะในเมืองจีนเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจได้ มี Human Touch มีบางสิ่งที่เรามีอารมณ์ร่วมด้วยได้ แล้วก็ไปเห็นป้ายนิทรรศการงานของ Andy Warhol จัดแสดงอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง มี Original Prints แสดงอยู่ด้วย เราตกใจมากเพราะปกติต้องบินไปดูงานแสดงตามเมืองใหญ่ๆ อย่าง ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก แต่ที่นี่ก็มี Andy Warhol ถือว่าเป็นศิลปินที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นผมมาก และคิดว่าจะยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน ครีเอทีฟ นักออกแบบ รุ่นใหม่ในยุคต่อๆ ไปอีกนาน แล้วเราก็เริ่มเซอร์ไพรส์แบบตลึงว่า “โอ้โฮ เมืองจีนทำขนาดนี้หรอ?” ทุกครั้งที่เดินหลุดเข้าไปในมุมไหนมุมหนึ่งจะเห็นว่ามีการปรับเปลี่ยน จัด Space ได้อย่างมีลักษณะเฉพาะตัวและแปลกใหม่กันทั้งนั้น หลายแห่งเก็บอุปกรณ์ที่อยู่ในโรงงานนั้นเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ เพราะเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ใน Gallery ที่อื่นในโลก



นอกจากนั้นก็มี Caf? เท่ๆ อาหารอร่อย ดูทันสมัย มีร้านหนังสือที่เทียบกับร้านหนังสือดีๆ ในนิวยอร์กได้เลย มีหนังสือ Limited Edition ที่หาซื้อกันใน e-bay ทั้งมี Collection นิตยสารของอเมริกันและยุโรปเก่าๆ ที่น่าสนใจและหายาก เฉพาะร้านนี้ร้านเดียวผมก็สามารถหายเข้าไปในนี้ได้ทั้งวัน น่าเสียดายที่ Photography Gallery ปิดซ่อมแซมอยู่ เราก็เลยอยากรู้ว่า “ใครเป็นคนรับผิดชอบ ใครเป็นคนเริ่มต้น นี่คืออะไรกันแน่” พอได้อ่านหนังสือถึงรู้ว่านี่เป็นโรงงานผลิตอาวุธสมัยปี 50’s โดยมีชาวเยอรมันตะวันออกเป็นคนออกแบบ ซึ่งใช้งานได้เป็นอย่างดี มีพื้นที่กว้าง มีหลังคาสูง เพดานรับแสงได้ดีไม่ต้องใช้ไฟฟ้า สวรรค์ของศิลปินและนักออกแบบ
ไดโนเสาร์มาทำอะไรอยู่ในร้านหนังสือ
พอศึกษามากเข้าไปก็เริ่มเห็นภาพใหญ่ว่า 798 คงไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ คงมีรัฐบาลช่วยสนับสนุนอย่างแน่นอน วันหนึ่งในไม่ช้านี้ 798 ต้องเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของปักกิ่งไม่น้อยไปกว่ากำแพงเมืองจีน หรือพระราชวังต้องห้าม คิดว่าที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนศูนย์รวมงานศิลปะและงานออกแบบ เช่น 798 และตามเมืองใหญ่อีกหลายแห่งทั่วประเทศจะมี Galleries เปิดขึ้นอีก 100,000 แห่ง เพราะเขารู้ว่าเขาไม่สามารถจะเป็นแหล่งผลิตราคาถูกของโลกไปได้นานนัก ไม่ช้าก็เร็วเขาก็จะต้องขึ้นราคา ดังนั้นหากสินค้าไม่ได้รับการออกแบบก็ไม่สามารถขายได้ เขาถึงสนับสนุนให้ศิลปิน นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ รุ่นใหม่ๆ มีศูนย์รวมเพื่อให้เกิด Interaction เกิดการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน และจากตรงนี้คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองจีน เมื่อวันหนึ่งที่เมืองจีนไม่สามารถผลิตของถูกกว่าคนอื่นได้อีกต่อไป ในจีนจะยังมีนักออกแบบเก่งๆ มากมาย เพราะวันนี้ทุกอย่างในโลกคือการออกแบบ แม้แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวของอิตาลียังได้รับการออกแบบจาก Phillip Starck หรือจะเป็น ช้อน ส้อม กิ๊บ หวี รองเท้า ปากกา นาฬิกา รถยนต์ ไม้จิ้มฟัน ข้าวของที่เราใช้ล้วนแล้วเกิดจากการออกแบบทั้งสิ้น ทุกอย่างถ้าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องขายถูกอย่างเดียว


giftshopรัฐบาลเราก็ได้เห็นความสำคัญและได้สร้างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creativity and Design Center –TCDC) ที่ชั้น 6 เอ็มโพเรียม เป็นแหล่งให้ข้อมูล จัดนิทรรศการ จัดบรรยาย สัมมนา ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เปิดโลกทัศน์ ได้เรียนรู้จากนักออกแบบระดับโลก ไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงเมืองนอก ก็มีโอกาสที่จะสัมผัสถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ได้ หวังว่าจะได้นำรูปแบบนี้ไปใช้ให้กว้างขวางขึ้นทั่วประเทศ น่าเสียดายหลายหน่วยราชการของไทยยังแยกกันบริหารและไม่ทำงานไปในทิศทางเดียวกันเท่าที่ควร เราจึงยังต้องใช้ความสามารถส่วนตัวเป็นหลัก ถ้าเราไม่รวมตัวเป็นก้อนเดียวกันและมาช่วยกันแบบเป็นขบวนการ เราจะสู้เขาได้ยากในอนาคต ถ้า Creativity คืออาวุธทางเศรษฐกิจ เมืองจีนกำลังสร้างขีปนาวุธที่น่ากลัว ในขณะที่บ้านเราอาจกำลังทำปืนฉีดน้ำเล่นกันในงานสงกรานต์ จะเปิดตลาดจีน ต้อง 798 ความสำเร็จของ 798 ในการสร้างตัวเป็นศูนย์ศิลปะแห่งใหม่ของโลกใบนี้ เข้าขั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แม้ว่า 798 จะตั้งอยู่ในเขตเฉาหยาง ซึ่งไม่ได้อยู่ศูนย์กลางของเมืองปักกิ่งเสียทีเดียว แต่ด้วยการอัตราการขยายตัวของเมืองระดับเดียวกับความเร็วของรถที่วิ่งบนทางด่วนชั้นดีของปักกิ่ง ทำให้เขตเฉาหยางแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมือง ที่ใครต่อใครรวมทั้งแบรนด์ต่อแบรนด์ อยากจะพาตัวเองให้ไปปรากฏตัวอยู่ที่นั่นสักครั้งหนึ่ง นอกจากนักท่องเที่ยว ศิลปินจากทั่วโลก 798 ยังถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของนักการตลาดที่ต้องการเปิดตัวสินค้าของตัวเองให้เป็นที่สนใจของผู้บริโภคระดับบนของปักกิ่งหรือกับตลาดจีน
เป็น Location Hit สำหรับนักถ่ายรูป Fashionเพราะตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีสินค้าหลายต่อหลายแบรนด์ เข้าคิวมาจัดงานเปิดตัวที่นี่มากมาย บางงานอาจจะไม่ได้จัดที่ 798 โดยตรง แต่ก็อยู่ในพื้นที่โรงงานทหารเก่าแห่งนี้ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Sony เคยจัดงานกาลาในการเปิดตัวสินค้าใหม่ นาฬิกา Omega Watchmaker จัดงานแฟชั่นโชว์ที่ Yan Club ซึ่งเป็นส่วนโรงอาหารเก่าของโรงงาน Christian Dior เชลล์ (Royal Dutch Shell) และ โตโยต้า ก็จัดอีเวนต์ที่นี่แล้วทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องหน้าแปลกใจที่สถานที่แห่งนี้จะมีซูเปอร์โมเดลระดับโลกมาปรากฏตัวตามแบรนด์ต่างๆ เหล่านี้ ทั้งแบรนด์และคนดังเหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากเชื้อไฟอย่างดี ที่ช่วยโหมให้โซนศิลปะที่รัฐบาลจีนตั้งใจปั้นขึ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื่อแน่ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น คงทำให้รัฐบาลจีนไม่หยุดแผนการสร้างธุรกิจเชิงสร้างสรรค์แห่งใหม่ในอนาคตให้ได้เห็นกันอีกแน่ๆ เครนยักษ์ที่ยังเก็บเอาไว้เป็นเอกลักษณ์ของ 798
เรื่อง ต่อ สันติศิริ by Positioning Magazine

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น