ปิดตำนานคุณหมอนักวาดภาพประกอบ “แฟรงค์ เอช เนตเตอร์” (Frank H. Netter) เจ้าของฉายา “ไมเคิล แองเจลโล” แห่งวงการแพทย์

เรื่อง: ชัชรพล เพ็ญโฉม

Frank1

อาจฟังดูงงๆ หากใครสักคนจะแนะนำตัวว่ามีอาชีพเป็นทั้งแพทย์และนักวาดภาพประกอบในเวลาเดียวกัน และคงจะยิ่งงงหนักขึ้นไปอีกหากแพทย์ท่านนั้นเล่าให้ฟังว่าภาพประกอบที่เขาวาดนั่นแหละเคยช่วยชีวิตคนมานับแสนนับล้านชีวิตแล้ว!

Frank H. Netter (1906 – 1991) คือนายแพทย์และนักวาดภาพประกอบที่(แพทย์)ทั่วโลกรู้จักกันดีจาก Netter’s Atlas of Human Anatomy เขาคนนี้คือตำนานบทเล็กๆ ของวงการแพทย์ ผู้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า “อุปสรรคสามารถแปรเปลี่ยนเป็นโอกาสได้เสมอ” และที่สำคัญไปกว่านั้นโอกาสที่เขาสร้างขึ้นให้ตัวเองยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างน่าเคารพด้วย

แฟรงค์เกิดเมื่อปีค.ศ.1906 ที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ด้วยความที่สนใจในศิลปะมาตั้งแต่เยาว์วัย เขาได้รับทุนให้ศึกษาต่อที่ National Academy of Design และยังได้เรียนกับอาจารย์พิเศษจาก Art Student Leagues of New York โดยหลังจบการศึกษาแฟรงค์ประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างรวดเร็ว เขาได้ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ดังอย่าง Saturday Evening Post และ New York Times แต่ถึงกระนั้นเนื่องจากครอบครัวไม่ยอมรับในอาชีพของเขา แฟรงค์จึงต้องเบนเข็มเพื่อเลือกทางเดินชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยเขาตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ที่ New York University และฝึกงานด้านศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาล Bellevue

Frank2

ขณะที่เป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่นั้น หมอแฟรงค์มีรายได้เสริมจากการวาดภาพประกอบให้กับบริษัทยาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งต่อมาดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเล่นตลกและนำพาให้เขากลับมาเดินอยู่บนเส้นทางของ “นักวาดภาพ” อีกครั้ง หมอแฟรงค์ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทยาแห่งหนึ่งให้ทำงานวาดภาพประกอบ ซึ่งเขาได้เสนอราคาค่าจ้างไปเป็นเงิน 1,500 เหรียญต่อภาพ 1 ชุด (5 รูป) แต่ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของบริษัทดังกล่าวเกิดเข้าใจผิดและจ่ายค่าจ้างให้เขารูปละ 1,500 เหรียญแบบไม่คิดมาก (ทำให้หมอแฟรงค์ได้รับค่าจ้างครั้งนั้นเป็นเงินทั้งสิ้น 7,500 เหรียญ) รายได้ก้อนงามดังกล่าวทำให้เขาตัดสินใจเลิกประกอบวิชาชีพแพทย์* ทันที และหันมาเป็นนักวาดภาพประกอบทางการแพทย์อย่างเต็มตัว

ในปีค.ศ.1936 หมอแฟรงค์ได้วาดภาพ “หัวใจพับได้” เพื่อเป็นสื่อโฆษณาให้กับบริษัท CIBA ปรากฏว่าภาพชุดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่แพทย์ (โดยเฉพาะภาพที่ไม่มีตราสินค้าพิมพ์อยู่ด้วย) หลังจากนั้นภาพอวัยวะพับได้อื่นๆ ก็ได้คลอดตามออกมาอีกมากมาย จนกระทั่งมีการรวมเล่มกลายเป็น The CIBA Collection of Medical Illustrations ซึ่งมีทั้งหมด 13 เล่ม (ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการรวมเล่มตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง) ในปีค.ศ.1989

Frank3

ก่อนหมอแฟรงค์เสียชีวิตเพียงสองปี ผลงานของเขาก็ได้ถูกตีพิมพ์อีกครั้งในชื่อ Netter’s Atlas of Human Anatomy ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากวงการแพทย์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ (ในช่วงชีวิตของหมอแฟรงค์ เขาได้วาดภาพประกอบที่ใช้ในวงการแพทย์รวมกว่า 4,000 ภาพ และได้รับการตีพิมพ์ใหม่นับครั้งไม่ถ้วน)

การผสมผสานทักษะที่ไม่น่าเชื่อว่าจะรวมอยู่ด้วยกันได้ในคนคนเดียว ดังเช่นในกรณีของคุณหมอนักวาด “แฟรงค์ เอช เนตเตอร์” นับเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับ “การเลือกเส้นทางอาชีพ” ได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้หลายๆ คนเริ่มเล็งเห็นว่าคุณค่าที่แตกต่างของศาสตร์แต่ละสาขานั้น หากถูกนำมาหลอมรวมกันได้อย่างเหมาะเจาะแล้ว ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติได้มหาศาล

*ในยุคที่แฟรงค์เป็นแพทย์ฝึกหัด เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทั่วโลก (The Great Depression ราวปีค.ศ.1929-1940) ทำให้คนจำนวนมากตกงานและไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา แพทย์ในยุคนั้นจึงไม่ได้เป็นวิชาชีพที่สามารถสร้างรายได้มากนัก

เกร็ดความคิด : อาชีพนักวาดภาพประกอบทางการแพทย์ (ที่บางคนอาจรู้จักในชื่อ Medical Artist หรือ Medical Illustrator) น่าจะเป็นวิชาชีพที่ให้แง่คิดแก่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองไทยได้เป็นอย่างดี อาชีพนี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกฝนและพัฒนาทักษะของคนให้มีความ “รอบด้าน” นั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตัวบุคคลเองแล้ว ยังอาจสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและคนอื่นๆ ได้ด้วย เหมือนอย่างในกรณีของนายแพทย์แฟรงค์ เอช เนตเตอร์ เป็นต้น

เครดิตข้อมูล:
http://en.wikipedia.org/wiki/Frank_H._Netter
http://www.netteranatomy.com/
http://www.elsevier.com/wps/find/bookdescription.cws_home/708004/description
http://www.netterimages.com/artist/netter.htm

เครดิตภาพ:
http://medicalsbooks.blogspot.com/2008_07_01_archive.html
http://www.netterimages.com/artist/netter.htm
http://img1.uploadhouse.com/fileuploads/469/469732a510bc054f7c67d38a272225e344f8ee.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น