ลงทุนในศิลปะ

Money Proวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

ภาพเขียนสีน้ำมันของมาร์ค รอธโค (Mark Rothko)ถูกประมูลไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ด้วยราคาถึง 72.84 ล้านดอลลาร์

การลงทุนในศิลปะเป็นการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้มีความมั่งคั่งสูง การลงทุนในศิลปะแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้ "ศิลป์" มากกว่า "ศาสตร์" เนื่องจากมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีประเด็นและแง่มุมที่ต้องพิจารณาแตกต่างไปจากการลงทุนอื่นๆ ดิฉันได้มีโอกาสไปฟังคำบรรยาย ของผู้เชี่ยวชาญ คือ คุณเควิน ชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของซอธเธอะบี เอเชีย จึงขอนำมาเขียนเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุน

ศิลปะเกิดการสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนมือกันมาตั้งแต่โบราณ โดยอาจจะมีการแลกเปลี่ยนกันบ้าง มีผู้อุปถัมภ์ให้สร้างงานบ้าง เกิดจากความจงรักภักดีบ้าง ความศรัทธาบ้าง หรืออาจจะเกิดจากสุนทรียภาพของศิลปินเอง

ในยุคหลัง วิธีการซื้อขายงานศิลปะที่นิยมมากที่สุด คือวิธีประมูล หรือ Auction ท่านที่เคยเข้าไปในห้องประมูลจะทราบดีว่า บรรยากาศในการประมูลนั้น ชวนให้เกิดความอยากได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในเพียงใด บรรยากาศนี้เองเป็นการสร้าง "ความต้องการ" ให้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้งานศิลปะมีราคาสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ราคาหรือมูลค่าของศิลปะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการเพียงอย่างเดียว เพราะหากเราต้องการอยู่คนเดียว เราก็ไม่สามารถขายต่อโดยมีกำไรได้ ผู้ลงทุนจึงต้องทราบด้วยว่า ผู้ลงทุนหรือผู้สนใจในงานศิลปะรายอื่นๆ เห็นความงามและคุณค่าของงานศิลปะชิ้นนั้นๆ จากอะไร ในแง่มุมไหนบ้าง และสิ่งที่ทำให้การลงทุนในศิลปะเป็นเรื่องยากก็คือ ปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้น และมีส่วนทำให้งานศิลปะมีค่านั้น โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถวัดได้

ปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าหรือราคาของศิลปะเท่าที่คุณเควิน บรรยาย มีอยู่ 7 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ ศิลปิน ศิลปินจะมีส่วนอย่างมากต่อราคาของศิลปะ แต่การกำหนดนี้ตัวศิลปินเองกำหนดได้แต่เฉพาะตอนขายครั้งแรกเท่านั้น การกำหนดที่มีความหมายสำหรับการลงทุน คือการกำหนดราคาของ "ตลาด" โดยผู้สะสมหรือผู้ลงทุนอื่นๆ ในตลาดจะกำหนดให้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะชิ้นนั้นๆ


Garcon a la Pipe ของปิกัสโซ่ (Pablo Picasso)

ตัวอย่างรูปวาดของศิลปินชั้นยอด เช่น ภาพเด็ก Garcon a la Pipe ของปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) มีมูลค่า 104 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,588 ล้านบาท


Landhaus am Attersee ของกุสต๊าฟ คลิมท์ (Gustav Klimt)

ภาพบ้านตากอากาศ Landhaus am Attersee ของกุสต๊าฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) ถูกประมูลไปล่าสุดที่ราคา 29 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท หนึ่งในภาพวาด Nimpheas ของโมเน่ต์ (Claude Monet) ถูกประมูลไปล่าสุดที่ราคา 18.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1,285 ล้านบาท เป็นต้น เรียกว่าถ้าลงทุนในงานของศิลปินที่ดัง ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง


ภาพเขียนสีน้ำมันของมาร์ค รอธโค (Mark Rothko)


เรื่องราวหรือที่มาของศิลปะชิ้นนั้นๆ (Provenance) ก็มีส่วนทำให้งานศิลปะชิ้นนั้นๆ มีราคาสูงขึ้น ยกตัวอย่างภาพเขียนสีน้ำมันของมาร์ค รอธโค (Mark Rothko) เป็นภาพสีที่ถูกป้ายเป็นแถบ 3 แถบ มีสีแซมด้านข้างเล็กน้อย ใช้สีทั้งหมด 4 สี ชื่อภาพ White Centre (Yellow, Pink and Lavender on Rose) ซึ่งผู้เห็นภาพที่ยังไม่ทราบประวัติ หรือเรื่องราวก็อาจจะคิดว่า "ลูกฉันก็วาดได้" ถูกประมูลไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ด้วยราคาถึง 72.84 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,513 ล้านบาท เนื่องจากเป็นภาพที่เคยแขวนอยู่ในออฟฟิศของร้อกกี้เฟลเลอร์ถึง 30 ปี คือไม่ว่าจะย้ายไปทำงานที่ห้องไหน ก็จะนำภาพนี้ไปติดผนังด้วย จึงเป็นภาพที่มี "เรื่องราว"

สภาพ หรือ Condition ของศิลปะ เป็นส่วนสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ชิ้นงานที่มีความสมบูรณ์จะได้ราคาดี ชิ้นงานที่ไม่สมบูรณ์จะมีราคาตกลงไป เช่น แจกันเคลือบสมัยราชวงศ์ชิง ที่นำออกมาประมูลเมื่อเดือนเมษายน 2550 ตราประทับใต้ฐานถูกขูดออกไปตอนที่ผู้นำออกมาจากวัง ลักลอบนำออกมา เพื่อกันไม่ให้ติดตามได้ ราคาที่ประมูลได้ไปคือ 10.9 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 47 ล้านบาท ในขณะที่หากเป็นชิ้นสมบูรณ์ จะได้ราคาสูงกว่าถึง 2-3 เท่าเลยทีเดียว

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อราคาของศิลปะ งานศิลปะชิ้นเยี่ยมที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ หรือเป็นหลักฐานให้ทราบถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์มักจะมีราคาสูงเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ความหายาก หรือ (Rarity) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานศิลปะชิ้นนั้นๆ มีราคาสูง จริงๆ แล้ว ปัจจัยนี้ไม่ได้ใช้กับงานศิลปะอย่างเดียวเท่านั้น แต่ใช้ได้กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งอาหาร ศิลปะที่หายากจะถือว่าเป็นชิ้นเอก หรือ Masterpiece เช่น เป็นชิ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการสร้างในสมัยนั้นๆ หรือมีการสร้างจำนวนน้อย หรือมีลักษณะพิเศษมีความวิจิตรบรรจงกว่าชิ้นใดๆ

รสนิยม คือปัจจัยที่มีผลต่อราคาของศิลปะมาก เศรษฐีบางคนจะชอบบางอย่าง และหากอยากได้จะทุ่มเงินซื้อ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาขึ้นไปสูงเกินความคาดหมายได้ ในปีที่แล้ว การซื้อขายงานศิลปะที่ขายผ่านการประมูลจากผู้จัดการประมูล 2 รายหลักของโลกคือ ซอธเธอะบี และคริสตี มียอดถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 276,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว

และท้ายที่สุด ที่มีผลต่อราคาของศิลปะคือ การลงทุนในศิลปะเพื่อวัตถุประสงค์ในการกระจายพอร์ตการลงทุน New MEI Moses Annual All Art Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาศิลปะ มีความเคลื่อนไหว ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนี S&P 500 เสมอไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าศิลปะไม่มีการซื้อขายกันบ่อยนัก แต่ดิฉันสังเกตเห็นว่า หากเศรษฐกิจดี ราคาหุ้นขึ้น ราคาศิลปะก็จะขึ้นด้วยค่ะ เพราะคนได้กำไรจากธุรกิจหรือจากหุ้นก็จะมีอารมณ์ดี อยากซื้องานศิลปะ และถ้าซื้อของตอนอารมณ์ดี ก็จะยอมจ่ายแพงได้ เวลาเศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นตก ราคาศิลปะก็จะตกด้วย ถือว่ามีความสัมพันธ์สูงมากทีเดียว

คุณเควิน ปิดท้ายด้วยการให้คำแนะนำว่า หากจะลงทุนก็ขอให้เลือกชิ้นที่ชอบ เพราะหากลงทุนผิด ซื้อมาราคาสูงเกินไป ทำให้ขายไม่ออก อย่างน้อยก็ยังได้เอาไว้ดูเล่นชื่นชมกับความงามค่ะ

เป็นที่น่าเสียดายที่ศิลปะของไทยมักไม่ค่อยมีบทบาทในโลกสากล สาเหตุน่าจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้งานศิลปะดีๆ เสียหายไปมาก นอกจากนี้ เรายังไม่ค่อยเผยแพร่ให้ชาวโลกได้เข้าใจในศิลปะของไทย ความเข้าใจและ "เรื่องราว" จะช่วยให้มีค่ามากยิ่งขึ้น ไม่ควรคิดแต่เพียงว่าของดีย่อมมีคุณค่าในตัวเอง สมัยนี้มีดีต้องป่าวร้องให้คนอื่นรับรู้ เมื่อเข้าใจก็จะเห็นคุณค่า และมูลค่าหรือราคาก็จะตามมาค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น