Meaning of the Meaningless : Takashi Murakami

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ

Takashi Murakami (born 1 February 1962 in Tokyo) is a prolific contemporary Japanese artist.


ชื่อของ Takashi Murakami ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก แต่หากเอ่ยชื่อของ Murakami ในแวดวงวงศิลปะและวงการแฟชั่นระดับโลกในปัจจุบัน ชื่อของบุคคลผู้นี้กลับกลายเป็นชื่อที่ไม่อาจละเลยไปได้

โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ Takashi Murakami ได้รับเชิญให้ร่วมงานกับ Marc Jacobs ดีไซเนอร์ของ Louis Vuitton เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ Louis Vuitton สำหรับงานใน collection ประจำฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนปี 2003 ซึ่งได้รับการเปิดเผยออกสู่สายตาของสาธารณะ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2002 เชื่อว่าคงทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกงุนงงระคนสงสัยในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เนื่องเพราะอักษรย่อ (monogram) LV สีน้ำตาล-ทอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ Louis Vuitton มาเนิ่นนานได้รับการปรุงแต่งให้มีสีสันมากมายหลากหลายรวมกว่า 33 เฉดสีทั้งบนพื้นผิวสีดำและสีขาว ขณะเดียวกันลวดลายของดอกซากุระ (Sakura : Cherry Blossom) และ characters ไม่ว่าจะเป็น LV Hands, Flower Hat Man, Onion Head และ Panda ซึ่ง Takashi Murakami เป็นผู้ออกแบบ ได้พลิกโฉมหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นไม่เฉพาะกับ Louis Vuitton เท่านั้น หากรวมถึงแวดวงแฟชั่นโดยรวมด้วย



การเข้าสู่แวดวงแฟชั่นของ Takashi Murakami แตกต่างจาก Kenzo, Yohji Yamamoto, Jun Takahashi รวมถึง 3 ศรีพี่น้องแห่งตระกูล koshino ตรงที่ Takashi Murakami มิได้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาด้าน fashion designer เหมือนนักออกแบบแฟชั่นรายอื่นๆ

Takashi Murakami สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี (Bachelor of Fine Arts : BFA) ปริญญาโท (MFA) จาก Tokyo National University of Fine Arts and Music สถานที่ที่เขาได้รับการบ่มเพาะทักษะและความชำนาญในการผลิตงานศิลปะตามแบบฉบับ classical and traditional painting ของญี่ปุ่น และได้รับปริญญาเอก (Ph.D.) จากสถาบันเดียวกันนี้ ในปี 1993 ด้วยวิทยานิพนธ์ที่มีหัวเรื่องว่า "The Meaning of the Nonsense of the Meaning" ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับงานศิลปะแบบ Nihonga

แม้ว่าจะมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน แต่ชื่อของ Takashi Murakami ในฐานะศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ของวงการศิลปะญี่ปุ่น ควบคู่กับบทบาทการเป็นแนวหน้าในการส่งออกวัฒนธรรมญี่ปุ่นออกสู่กระแสธารของวัฒนธรรมโลกก็ได้รับความสนใจและจับตามองเป็นพิเศษ


Takashi Murakami เกิดในกรุงโตเกียวเมื่อปี 1962 โดยในวัยเด็ก Takashi Murakami ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการ์ตูน anime ของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 โดยเฉพาะจาก Ginga Tetsudo 999 (Galaxy Express 999) ซึ่งนับเป็น series ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่น


Takashi Murakami เริ่มสร้างและสะสมชื่อเสียงทั้งในฐานะประติมากร (sculpture) และจิตรกร (painter) จากผลงานที่ส่วนใหญ่มีรากฐานผูกพันกับการ์ตูนญี่ปุ่น (manga) โดยงานที่สร้างชื่อให้กับ Takashi Murakami และถือเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของเขาในยุคแรกๆ เป็นงานประติมากรรมที่สร้างขึ้นจาก fiberglass ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่มีชื่อว่า HIROPON และ My Lonesome Cowboy โดยในผลงานทั้งสองนี้ Takashi Murakami ได้นำลักษณะและบุคลิกของ anime (การ์ตูนญี่ปุ่น) มาเป็นฐานในการสร้างงาน



ความหนักหน่วงของเสียงวิพากษ์ที่เกิดขึ้นก็เนื่องเพราะงานทั้งสองชิ้นของ Takashi Murakami ดังกล่าวได้สะท้อนเรื่องราวของสรีระและสัญลักษณ์ทางเพศอย่างชัดเจน

โดยงานที่ชื่อ HIROPON นอกจากจะเป็นรูปปั้นหญิงสาวในแบบ Anime-style ที่สูงสง่าเกินมาตรฐานปกติ ในชุดรัดรูปที่มีขนาดเล็กเกินกว่าจะปกปิดเรือนกายและของสงวนแล้ว ทรวงอกขนาดมหึมาเกินมนุษย์ธรรมดาจะพึงมีได้ ยังปรากฏน้ำนมไหลเป็นสาย ก่อนที่จะถูกลำเลียงและขัดเป็นเกลียวประหนึ่งเส้นเชือกน้ำนมที่หญิงสาว HIROPON ใช้เป็นเชือกกระโดด (jump rope)

ขณะที่ในส่วนของ My Lonesome Cowboy ก็ปรากฏเป็นภาพชายหนุ่มรูปร่างกำยำ กำลังใช้มือยึดกุมองคชาติที่แข็งเกร็งและกำลังหลั่งน้ำอสุจิเป็นทางยาว โดยมีมืออีกข้างหนึ่งถือสายน้ำอสุจิที่กำลังพวยพุ่งขึ้นแกว่งไกวไว้เหนือศีรษะประหนึ่งเป็นบ่วงบาศก์ (lasso)

ผลงานดังกล่าว ส่งผลให้ Takashi Murakami ได้รับการเรียกขานในฐานะ Otaku King (Otaku : กลุ่มคนที่นิยมและคลั่งไคล้งาน animation หรือ anime แบบญี่ปุ่นที่มีบุคลิกมาจากการ์ตูน Manga ที่มีลักษณะเป็น hyper-sexualized comic ซึ่งต่อมาได้ขยายไปสู่ตัวละครใน video game และ computer game โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับกระแสการบริโภคสื่อทางเพศ pornographic media ด้วย) ซึ่งเป็นกระแสวัฒนธรรมที่ถูกผลักให้เป็นวัฒนธรรมใต้ดินและนอกกระแสมาตั้งแต่เมื่อปี 1989 ก่อนที่จะกลายเป็นรูปแบบวัฒนธรรมยอดนิยม (popular culture) ในเวลาต่อมา ขณะที่กระแสวิพากษ์บางส่วนกล่าวถึงงานดังกล่าวในฐานะที่เป็นภาพสะท้อนของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยญี่ปุ่น (contemporary art & contemporary culture) ด้วย

แต่สำหรับ Takashi Murakami ดูเหมือนเขาจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถูกจัดหมวดหมู่หรือคำนิยามใดๆ มากนัก เพราะเขาเชื่อว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมย่อยๆ นอกกระแส (sub-culture) ที่หลากหลาย มากกว่าที่จะมีวัฒนธรรมใดๆ เพียงหนึ่งเดียวเป็นตัวกำหนด

ความไร้แก่นสารและปราศจากความหมาย (The Meaning of the Nonsense of the Meaning) ที่ปรากฏในงานของ Takashi Murakami กลายเป็นสาระหนักหน่วงบางประการที่เขาพยายามจะสื่อต่อสาธารณะ

ในปี 1996 นิทรรศการ "Konnichiwa, Mr. DOB" ได้ท้าทายความเป็นไปของสังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อ Takashi Murakami นิยามความหมายของ DOB ที่ได้รับการสื่อออกมาในรูปแบบของตัวการ์ตูนว่า "DOB is a self-portrait of the Japanese people... cute but has no meaning and understands nothing of life, sex, or reality." และ "DOB is always confused, and in a daze, like he was drunk or stoned."


'Dob Flower' 2001 , 50x50 cm



Mr DOB



Mr DOB


DOB กลายเป็นผลงานที่ได้รับการนำเสนอต่อเนื่องในหลายรูปแบบและในโอกาสหลากหลาย (1998 : "More over, DOB raises his hand" และ 1999 : DOB in the strange forest) ซึ่งปรากฏผลงานทั้งในรูปของงาน Installation, ภาพพิมพ์, ภาพวาด และสื่อผสม ขณะเดียวกัน DOB ก็กลายเป็นสภาพเป็นสินค้านานาชนิดที่สะท้อนสภาพ cute emptiness in contemporary Japanese society ได้เป็นอย่างดี

ชื่อเสียงของ Takashi Murakami มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในบริบทของสังคมญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่สถาบันศิลปะทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็ประเมิน Takashi Murakami ในฐานะศิลปินระดับแนวหน้าของยุคสมัยที่กำลังหล่อหลอมและกำหนดทิศทางใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในแวดวงศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

โดย Takashi Murakami ได้จัดแสดงผลงานโดยเฉพาะในแบบ solo exhibition ขึ้นที่ Marianne Boesky Gallery, New York (2003) ; Fondation Cartier pour l'art contemporain, Paris (2002) ; Museum of Fine Arts, Boston (2001) ; Galerie Emmanuel Perrotin, Paris (2001) และ Museum of Contemporary Art, Tokyo (2001) รวมถึงการได้รับเชิญไปเป็นผู้สอนและบรรยาย New Genre Course ที่ UCLA และการร่วมในงาน group exhibition ที่ส่วนใหญ่จัดแสดงภายใต้หัวข้อ contemporary art อีกนับครั้งไม่ถ้วน




Artist Takashi Murakami with his sculpture Tongari-Kun—Mr. Pointy & the Four Guards


ขณะเดียวกัน เมื่อ Roppongi Hills เปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของญี่ปุ่นในปี 2003 งาน Roppon-jin หรือมนุษย์แห่ง Roppon ของ Takashi Murakami ก็ได้กลายเป็นภาพสัญลักษณ์เพื่อสื่อแสดงความร่วมสมัยของสถานที่แห่งนี้ด้วย

Takashi Murakami กลับมาแสดงงานและสร้างสีสันให้เกิดขึ้นกับ Roppongi Hills อีกครั้งในช่วงฤดูร้อน 2005 (22 กรกฎาคม ถึง 25 กันยายน) ด้วยผลงาน TONGARI-KUN หรือ Mr.Pointy & The Four Guards ที่ตั้งแสดงอยู่ในสระบัวใน Mohri Garden

ซึ่งผลงานที่จัดแสดงรวมถึงคำอรรถาธิบายที่ประกอบดังกล่าว หากปรากฏขึ้นในบางสังคม เชื่อว่าศิลปินผู้ผลิตงานชิ้นนี้ คงต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างหนัก แต่สำหรับญี่ปุ่น ประเทศที่มีพื้นที่อยู่อย่างจำกัด กลับถูกเปิดกว้างให้กับทัศนะหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์ไม่รู้จบให้มีโอกาสได้งอกเงย

เป็นความคิดและทัศนะที่มีนัยสำคัญต่อสิ่งไร้ความหมายอย่างท้าทายอีกครั้งหนึ่งของ Murakami ซึ่งได้แสดง ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า "If my art looks positive and cheerful, I would doubt my art was accepted in the contemporary art scene. My art is not Pop art. It is a record of the struggle of the discriminated people." พร้อมกับระบุว่า เขาเพียงแสดงออกถึงความสิ้นหวัง (I express hopelessness)


The World of Sphere, 2003
Acrylic on canvas 137 3/4 x 137 3/4 inches



Mr.'s Strawberry Voice (2007)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น