สหประชาชาติจัดการประชุมครั้งแรกว่าด้วยการปกป้องสิทธิของผู้พิการ โดยมีประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น โลกเรามีผู้พิการอยู่ราว 650 ล้านคน ถือเป็น15เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกในปัจจุบัน โดยได้มาซึ่งข้อสรุป ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของสหประชาชาติโดยแท้จริงที่จะถือเอา “ความทุพพลภาพ” ความไม่เท่าเทียมกันทางร่างกายหรือความไม่สมบูรณ์ทางร่างกายและจิตใจดังกล่าวนั้น มีความเป็นสากล การจัดให้มีที่นั่งสำหรับผู้พิการในอาคารสถานที่ และให้มีทางอำนวยความสะดวกต่อผู้พิการ โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานในการออกแบบอาคารสาธารณะ และที่พักอาศัย
ผลกระทบนี้ น่าจะส่งผลต่อกระบวนทรรศน์ใหม่ในการออกแบบพื้นที่ภายใน ไม่มากก็น้อย
ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบจะดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร
หากการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อต่อการเรียนการสอนยังมิได้คำนึงถึงมาตรฐานใหม่นี้อย่างดีเท่าที่ควร
ปัญหาประการดังกล่าวนี้ยังมิได้หมายรวมถึงลักษณะพฤติกรรมทางการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542
และระเบียบประกาศของคณะวิชาที่ศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบของสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง ยังคงกำหนดเงื่อนไขในการรับเข้าศึกษาต่อโดยอาศัยคุณลักษณะความสมบูรณ์บางประการของร่างกาย
ด้วยปัญหาดังกล่าวสร้างความสับสนและไม่เข้าใจถึงแนวความคิดหลักของการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบนี้เอง ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกถึงการเลือกปฏิบัติ(Discrimination) ต่อบุคคลใดๆที่อาจจะมีความสามารถในการเรียนรู้ แต่ขัดแย้งกับปัจจัยควบคุมต่อการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งผลของมันนั้นอาจสะท้อนได้ว่า มีกระบวนทรรศน์ของการลดศักดิ์ศรีหรือคุณค่าแห่งความมนุษย์ (Dehumanized) ให้มีความแตกต่างกัน
ในอดีตเราแยกความเป็นเรา และความเป็นอื่น โดยอาศัยปัจจัยต่างๆที่เป็นข้อกำหนดถึงผลลัพท์หรือการปฏิบัติใดๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือชวนให้ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้
ลักษณะดังกล่าว อาจถูกพบเห็นได้จาก การกำหนดหรือนิยามถึงความพิการ ตามความหมายที่ได้มีผู้นิยามไว้มากมายดังต่อไปนี้...
คนพิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีความสามารถถูกจํากัดให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้โดยวิธีการทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้และมีความต้องการจําเป็นพิเศษด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดําเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป[1]
ประเภทของความความพิการ
คนพิการแต่ละประเภทมีรายละเอียดความพิการในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 กําหนดลักษณะ ดังนี้
พิการทางการมองเห็น
คือ คนที่มีสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดา แล้วมองเห็นน้อยกว่า 6/18 หรือ 20/70 จนมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีเลนส์สายตาแคบกว่า 30 องศา
พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย
การได้ยิน การสื่อสาร
เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ลักษณะความพิการ คือ หูตึงปานกลาง หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดังเฉลี่ยเกิน 40 เดซิเบล จนไม่ได้ยิน ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5
เด็กอายุเกิน 7 ปี ถึงผู้ใหญ่ ลักษณะความพิการ คือ ความผิดปกติ หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดัง 55 เดซิเบลขึ้นไป ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5
พิการทางกาย หรือการเคลื่อนไหว
ลักษณะความพิการ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายเห็นชัดเจน และคนที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว ทําให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรในชีวิตประจําวันได้ ระดับความผิดปกติ 3 ถึง 5
พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
ลักษณะความพิการ คนที่มีความผิดปกติ ความบกพร่องทางจิตใจ หรือสมองในส่วนรับรู้ อารมณ์ ความคิด จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จําเป็นในการดูแลตนเอง หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น ระดับความผิดปกติ ระดับที่ 1 และระดับที่ 2
พิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้
ลักษณะพิการ คือ คนที่มีความผิดปกติ หรือความ บกพร่องทางสติปัญญาหรือสมอง จนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้
พิการซ้ำซ้อน
มีความพิการมากกว่า 1 ลักษณะขึ้นไป
หากเราเข้าใจความเป็นจริง ความเป็นจริงที่เราไม่อาจสามารถแยกความเป็นเรา และความเป็นอื่นออกจากกันได้ เราต้องมองหรือมีวิธีคิด ที่เป็นสากล เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรม
โดยอาศัยความรู้ความสามารถของนักออกแบบที่มิได้มุ่งเพียงแก้ปัญหา หรือสรรค์สร้างทางความงามจรรโลงใจ ในระดับพึงพอใจแต่เพียงอย่างเดียวเราคงไม่สามารถปฏิเสธความเป็นอื่น เพียงแค่มีวิธีคิดที่ต่างหรือมีเพียงกายภาพร่างกาย,ชาติพันธ์หรือภาษาที่ใช้ในการสื่อสารที่ต่างกันเท่านั้น
ในความเป็นมนุษย์โลก อันเป็นประชากรของระบบสุริยจักรวาลเดียวกันนี้ อาจถูกคาดหมายได้ถึงความพยายามที่จะทำลายทุกอุปสรรคใดๆที่ขวางความเป็นเราและความเป็นอื่นออกจากกัน
ด้วยการใช้ความคิด,ปัญญาความรู้ และวิธีการ เพื่อสนองประโยชน์ต่อประชากรมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ดังนั้น การศึกษาจึงน่าจะให้โอกาสทุกๆคนอย่างเท่าเทียมกันตามแต่ศักยภาพและความสามารถของบุคคล
เมื่อกล่าวถึงคำว่า การศึกษา เราหมายความถึงทั้งการเรียน การสอน ทักษะเฉพาะ และสิ่งที่แม้จะจับต้องไม่ได้แต่เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง กล่าวคือ การถ่ายทอดความรู้ ทักษะการตัดสินที่ดี และภูมิปัญญา เป้าหมายพื้นฐานอีกประการหนึ่งของการศึกษา คือ การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นไปสู่รุ่น (โดยอาจเรียนรู้ด้วยการขัดเกลาทางสังคม (socialization))
อีกความหมายหนึ่งของ การศึกษา คือ การพัฒนาคน ซึ่ง การพัฒนา หมายถึง การแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น / การเสริมข้อดีให้คงสภาพหรือดียิ่งขึ้น[2] ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาหมายถึุง การศึกษาที่สูงขึ้นจากระดับมัธยมศึกษา คำว่า อุดมศึกษา มีรากศัพท์มาจากคำบาลี ได้แก่ อุดม หมายถึง สูงสุด และ ศึกษา หมายถึง การเล่าเรียน ดังนั้น คำว่า "อุดมศึกษา" จึงหมายถึง การเรียนขั้นสูงสุด ในปัจจุบัน การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด 157 แห่งทั่วประเทศ (รายงานประจำปี 2548 สกอ.) โดยแบ่งเป็น
สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 74 แห่ง
สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล 4 แห่ง
สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 62 แห่ง
วิทยาลัยชุมชน 17 แห่ง[3]
ประเด็นที่น่าสงสัยก็คือว่าเมื่อไหร่ที่สถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษา (University) จะสามารถสร้างเสริมความสามารถในการรับผู้ศึกษาโดยไม่มุ่งถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นพื้นฐาน และสามารถสร้างพฤติกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของผู้ศึกษา ที่มีหลากหลายแบบ
( universal ) โดยอาศัยการปรับสภาพแวดล้อมทางการศึกษาและปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ที่ผ่านการคิดออกแบบและแก้ปัญหาโดยใช้ความคิดในลักษณะของการออกแบบด้วยความเป็นธรรม
( Universal Design )
ในหลายๆสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำในประเทศไทย ดัชนีการประกันคุณภาพการศึกษาบางตัว อาจมุ่งไปที่ปัจจัยเกื้อหนุนทางการศึกษา เช่นการมีอุปกรณ์หรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆที่เอื้อต่อการเข้าถึงทางการเรียนรู้ โดยอาจครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหาบางลักษณะของผู้ทุพพลภาพได้ บางกรณีอาจก่อให้เกิดการดัดแปลงแก้ไขสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการสัญจรต่อผู้ทุพพลภาพในบางลักษณะ
แต่สิ่งหนึ่งทีอยากให้สังเกตคือ ไม่ว่าจะโดยเจตนาแบบใดๆก็ตาม เรา อาจอยู่ในฐานะที่เป็นบุคคลที่ตระหนักถึงความสำคัญและได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆไปทีละอย่าง แต่ก็มิได้ตั้งอยู่บนบริบทของความเป็นธรรมโดยแท้จริง เราอาจดัดแปลงทางเชื่อมและทางลาดให้กับผู้ทุพพลภาพ แต่เราอาจไม่เคยคิดว่าการดัดแปลงดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือมีความเป็นธรรม ถ้ากระบวนทรรศน์ของเรายังคงตั้งอยู่บนการมองลงมาจากมุมมองของผู้ที่สมบูรณ์ สู่ผู้ที่ไม่สมบูรณ์ เรา ต้องเข้าใจและตระหนักต่อกระบวนทรรศน์ใหม่ ที่พิจารณาถึงความเป็นจริงว่า โดยรวมของโลกและสังคมของเรานั้น ความจริงคือ ความไม่สมบูรณ์และความไม่เท่าเทียม
การได้มาซึ่งวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆที่เอื้อประโยชน์ดังกล่าวต่อผู้พิการบางระดับ อาจไม่มีความหมายใดๆมากไปกว่าแค่การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่บุคคลที่สมบูรณ์กว่านั้นได้หยิบยื่นให้กับบุคคลที่ไม่สมบูรณ์ คำถามที่สำคัญมากคือ เมื่อไหร่ความเป็นธรรมต่อบุคคลที่เขามิได้เลือกที่จะเกิดมาแบบไม่สมบูรณ์ได้ด้วยตนเอง จะรู้สึกว่าตนเองนั้นมิได้เกิดขึ้นมาเป็นภาระของผู้ที่สมบูรณ์ เมื่อไหร่ ที่สังคมของนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ความพึงพอใจให้กับสังคม จะได้พิจารณาบนมิติฐานมูลของความคิดและความรู้สึกแบบที่ต่างออกไปจากเดิม เพื่อความเป็นธรรมโดยแท้จริง
บางทีการศึกษากรณีศึกษาที่น่าสนใจในปัจจุบันหลายกรณีศึกษา อาจถูกนำมาใช้เพื่อ “ถามทาง”
หรือ “ท้าทาย” วิธีคิดของสังคมเดิมๆ สังคมของนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ในปัจจุบัน ทั้งเพื่อให้ความรู้โดยผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทั้งสร้างการตระหนักรู้และการให้ความสำคัญด้วยผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ทางการออกแบบ ซึ่งบทสรุปของมันได้สะท้อนเจตนาของผู้ดำเนินการศึกษา เพื่อส่งต่อผลไปสู่ความงอกงามในภูมิปัญญาของสังคม ในบริบทที่ใหญ่ขึ้น ทีละน้อยๆ บางทีอาจนำไปถึงความรู้สึกหรือเจตนาที่เพิ่มหรือให้คุณค่า และอาจเลยหรือก้าวพ้นไปถึงการกำหนดนิยามความหมายใหม่ๆเพื่อให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนกระบวนทรรศน์
ในการศึกษาทางด้านศิลปะและการออกแบบ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทรรศน์ ( Paradigm shift ) หรือกระบวนทรรศน์ใหม่ นั้นมีผลสำคัญมากต่อพฤติกรรมการสร้างสรรค์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมด้านศิลปะและการออกแบบในทุกๆส่วนขององค์ประกอบ เพราะต่างก็มีเหตุและเงื่อนไข รวมถึงสิ่งที่เป็นความคิดความเชื่อ ในรูปแบบที่คล้ายกัน เราอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ไปทีละน้อยๆ จากผู้ที่มีอิทธิพลต่อกระแสด้านศิลปะและการออกแบบในประเทศ ทีละเล็กทีละน้อย และเราก็คงหวังว่าสักวันหนึ่งความพยายามที่จะทำให้วิธีคิดในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็คงจะมีคุณค่าไม่เพียงแค่ความพยายาม
อาจารย์ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น