การแบบถอดประสบการณ์การเรียนรู้ ด้านประเด็นความรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1. ผู้เล่าเรื่อง อ.ต้นข้าว นิทัศกาญจนานนท์ และ อ.ปริญดา เสตะพันธุ์ คณะศิลปะและการออกแบบ
2. ผู้บันทึก อ.บัณฑิต เนียมทรัพย์ คณะศิลปะและการออกแบบ
3. บทบาทของผู้เล่าเรื่อง
เป็นอาจารย์ประจำและผู้สอนในรายวิชา ART 112, ART 113, และ ART 114
4. เรื่องที่เล่า “การเรียนรู้ผ่านทักษะหลากวิธี + สร้างสรรค์กิจกรรมเคลื่อนไหวทางศิลปะ”
5. ความเป็นมาของเรื่อง
การเรียนก้าวแรกสู่การเป็นนักออกแบบ ภาษาทางศิลปะถูกถ่ายทอดสู่บทการเรียนขั้นพื้นฐานเป็นลำดับก่อนก้าวต่อยอดในขั้นสูง ในคณะศิลปะและการออกแบบวิชาพื้นฐานทางศิลปะถูกกำหนดเป็นแกนหลักแรกที่นักศึกศึกษาต้องเรียนรู้ วิชาทฤษฎีสี ART 112 วิชาการออกแบบสองและสามมิติ ART 113, ART 114 ซึ่งอยู่ในภาคการสอนสองภาษา ( Bilingual Program ) ซึ่งทางคณะศิลปะและการออกเปิดคู่ขนานกับภาคภาษาไทย ซึ่งภาระหลักของสามรายวิชานี้นอกจากจะปูฐานองค์ความรู้แรกทางศิลปะที่ว่าด้วยสี รูปร่างและสุนทรีมิติทางรูปทรงแล้ว โปรแกรมในแต่ละรายวิชายังแทรกการสอนภาษาอังกฤษที่สอดรับกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนภาอังกฤษให้ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำนานาชาติ
สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยของสามรายวิชาพื้นฐานที่ต้องเสริมความรู้และทักษะทางศิลปะ ผ่านการคิดวิเคราะห์และลงมือสร้างสรรค์ชิ้นงานไปพร้อมกัน ด้วยเทคนิคที่ให้ผู้เรียนค้นหาศักยภาพที่เปี่ยมด้วยพลังความคิดเชิงสร้างศิลป์ด้วยบททดลองหลากโจทย์ที่ไม่ต่างจากนักค้นคว้าที่อยู่ในห้องแลบวิทยาศาสตร์ “ผู้สอนได้คิดและพัฒนาการเรียนรู้ศิลปะผ่านการหยิบยืมเทคนิคการทดลองเชิงฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ทำให้ผู้เรียนค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ทางศิลปะอย่างน่าตื่นเต้นประทับใจ” นอกเหนือจากความน่าสนใจเหล่านี้แล้ว การจัดกิจกรรมในช่วงท้ายเทอมยังช่วยสร้างสีสันความบันเทิงทางศิลปะด้วยการรวมตัวจากนักศึกษาและคณาจารย์ต่างคณะและจากมหาวิทยาลัยอื่นภายใต้แนวคิด เทศกาลทางศิลปะที่ชื่อ “ KNOCKOUT ”
6. วิธีการที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ใช้
นักวิทยาศาสตร์มักคว่ำหวอดกับการตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ความสงสัยทั้งหลายถูกมนุษย์ท้าทายด้วยการตั้งสมมุติฐานและค้นหาหนทางพิสูจน์จนได้คำตอบที่เผยเป็นทฤษฎี กว่าจะได้รับการยอมรับต้องผ่านการทดลองพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งไม่ต่างจากการเรียนทางศิลปะที่อาศัยกรอบทฤษฎีที่คิดค้นเป็นแกนหลัก การเรียนในสามรายวิชาผู้สอนจึงตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนพิสูจน์แนวคิดเหล่านั้นด้วยการทดลองด้วยตนเอง และนำสู่การขยายผลให้เป็นมิติทางศิลปะที่มีคุณค่าเชิงความงามในท้ายสุด
การเรียนด้วยการทดลองที่น่าสนใจเช่นนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้สอนยึดติดแต่ภายใต้กรอบแนวคิดเดิม การเปิดใจกว้างที่จะรับฟังไอเดียสดใหม่ที่นักเรียนพึ่งจะค้นพบช่วยทลายกรอบห้องเรียนแบบเดิมให้หมดไป แทนที่นักเรียนจะมุ่งเป้าไปที่ผู้สอนเป็นแกนหลักสำคัญ แต่สามรายวิชานี้ผู้สอนได้เปิดผนังห้องเรียนทางศิลปะที่คับแคบอึดอัดในแบบการสอนเดิมๆให้กว้างขึ้น เปิดใจรับฟังเสียงของนักเรียนศิลปะที่สร้างชิ้นงานได้อย่างยอดเยี่ยม ปรากฏการณ์การเรียนรู้แบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายระบบโรงเรียนศิลปะในบ้านเมืองเราที่ควรก้าวข้ามยุคสมัยไปสู่ความเป็นเลิศทางศิลปะที่มุ่งให้ผู้เรียนค้นพบศักยภาพในตัวเองเป็นสำคัญ
7. ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
ความสำเร็จที่น่ายกย่องของสามรายวิชานี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดองค์ประกอบเกื้อหนุนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งก็คือ การมุ่งความสำคัญที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก รองลงมาคือบทบาทที่ผู้สอนในรายวิชาได้กำหนดเป้าหมายของการเรียนไว้แต่แรกอย่างชัดเจนว่า ภาพรวมของงานที่นักศึกษาสร้างสรรค์ขึ้นจะนำไปขยายผลในรูปของกิจกรรมสันทนาการทางศิลป์ เช่นงาน“ KNOCKOUT ” ที่จัดขึ้นมาสามครั้งและบรรลุผลอย่างยอดเยี่ยม
แผนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมศิลป์ที่กำหนดไว้ชัด ทำให้ผู้เรียนมีแผนภาพที่ไม่คลุมเครือ การเรียนรู้เชิงการทดลองจึงสนุกไม่น่าเบื่อ ตื่นเต้นไปกับการสร้างชิ้นงานที่มีโจทย์ท้าทาย อาทิ “ปั้นน้ำเป็นตัว” หนึ่งในบทเรียนที่ให้นักเรียนได้สร้างสรรค์ฟอร์มชิ้นงานจากวัสดุที่แปรสภาพจากของเหลวเป็นของแข็ง และอีกหลายบทเรียนที่ได้ผลสรุปเป็นชิ้นงานที่สร้างความฉงนใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
“ เมื่อได้เรียนรู้ผ่านการทดลอง เหมือนค้นพบปรากฏการณ์ทางศิลปะใหม่ๆไปพร้อมกันด้วย”