Prada กับ Unconventional Thinking ความงามในปัจจุบันที่ขายได้ด้วย...

บทความโดย : ปรียา สุธรรมธารีกุล
อาจารย์ประจำ สาขาแฟชั่นดีไซน์
คณะศิลปะและการออกแบบ
มหาวิทยาลัยรังสิต


“การที่สินค้าขายได้นั้น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉัน เป็นสิ่งที่ฉันไม่ทิ้งผู้สวมใส่ ทั้งเรื่องความปรารถนา และ ความต้องการเสื้อผ้าสักตัวนึง…ฉันอยากประสบความสำเร็จ ทั้งด้านสร้างสรรค์ และการค้า ด้วยตัวของฉันเอง ฉันทำงานร่วมกับศิลปิน ด้วยความคิดที่ลึกซึ้งเรื่องชีวิต โลก และมนุษย์ ศิลปินได้แบ่งปันความคิดที่ฉันรัก ด้วยความเข้าใจ และทำความคิดที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ และค้นหา ความคิดใหม่ๆ ด้วยวิธีการคิดใหม่ๆ” (Schiaparelli &Prada, 2012)
Miuccia Prada นักออกแบบแฟชั่นชาวอิตาเลี่ยน และ เจ้าของแบรนด์Prada และ Miu Miu เธอเป็นนักออกแบบสร้างสรรค์และการค้าที่มีความสมดุลย์ “...ความคิดสร้างสรรค์ กับการค้า เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่ง และการจัดการให้สมดุลย์ จึงจะเป็นความสำเร็จที่แท้จริงของบริษัท” (magazine. wsj.com 2014 /24/ 7) Pradaได้รับการยกย่องว่า เป็นผลงาน แนวหน้าร่วมสมัย (Contemporary Avant-Garde) เธอพยายามค้นหาจิตวิญญาณใหม่ เกี่ยวกับความหมายของความงามในปัจจุบัน หากเราศึกษาจากประวัติ ความคิด แรงบันดาลใจ ตลอดจนแนวความคิด และการออกแบบแนวแปลก แต่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันแล้ว คงยอมรับว่าเธอคิดแหวกแนว จริง...

ด้วยความต้องการเป็นนักการเมือง Prada จึงได้ศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ แต่ต้องรับช่วงดำเนินธุรกิจเครื่องหนัง ของครอบครัว เธอจึงศึกษาการออกแบบ กับแนวทางของนักออกแบบที่อยู่รายรอบ และเธอมีความเป็น “ขบถ” (Nihilist) อยู่ในตัว เธอต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ (Wikipedia) และวิญญาณขบถนี้เอง ที่ทำให้เธอมีความกล้าในการแสดงออก นอกจากนี้เธอยังได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มศิลปิน ที่เธอมีเครือข่ายทำงานร่วมกัน เพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจเป็นพลังความคิด ที่ทำให้เธอกล้าที่จะสะท้อนความเห็นของสังคม ผ่านสื่อได้อย่างมั่นใจ
Pradaได้ใช้แนวคิดของปรัชญาการรื้อสร้าง (Deconstruction) ในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง โดยค้นหาความหมายของความงามในปัจจุบัน “...การรื้อความหมายของความงาม แบบเดิมๆ ที่แสดงถึงเสื้อผ้าที่มีความหรูหราของชนชั้นสูง ด้วยการค้นหาความหมายของความงาม ที่หรูหราในยุคใหม่ เป็นประเด็น สำคัญในการสร้างงานของฉัน… และพบว่าความงามของเสื้อผ้าในปัจจุบันก็คือ เสื้อผ้าที่ผู้หญิงต้องการเป็นเจ้าของ นั่นเอง...” (Schiaparelli & Prada, 2012)
แนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของPrada มักจะเป็น ความลำบาก และความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเสมอๆ ไม่ว่าจะลำบากในสถานการณ์ใดๆ ควบคู่ไปกับ ผู้หญิงที่มีบุคลิกต่างๆ อาทิ เช่นผู้หญิง เซ็กซี่ ในประวัติศาสตร์ เรียบร้อย เกย์ นักสู้ แต่จะเป็นชาติพันธุ์ใด ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องราว ที่เธอหยิบยกมา เช่น ผู้หญิงเซ็กซี่ที่เป็นตุ๊กตาหน้ารถ และแทนค่าผู้หญิงเซ็กซี่ด้วยรูปลักษณ์ของ Marilyn Monroeนักแสดงในยุค50s-60sรวมทั้งโครงและรูปแบบของเสื้อผ้า นอกจากนี้เธอยัง ค้นหาแรงบันดาลใจจากศิลปะ ภาพยนตร์ สิ่งรอบตัว เป็นต้น ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่อยากเล่าผ่านเสื้อผ้านั่นเอง
                           
ทีนี้ก็จะมีคำถามว่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ หรือสิทธิสตรีจะนำมาใช้ในการออกแบบอย่างไร ถ้าสังเกตดูให้ดี ส่วนใหญ่เธอก็จะนำมาเล่าบนลายผ้า หรือการออกแบบพื้นผิว และการใช้เสื้อผ้าในเชิงสัญลักษณ์ อยากยกตัวอย่าง คอลเล็คชั่น Spring/Summer 2014 collection ซึ่ง Prada ต้องการจะทำให้ผู้หญิง เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการกดขี่ทางเพศ โดยมีวลีว่า “to be struggle” เธอกล่าวถึงภาพวาดฝาผนัง Mural Painting หรือ Street Art ในแอลเอ เม็กซิโก และอเมริกาใต้ Prada ได้ให้ความสำคัญกับภาพของ Richard Lindner และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจหลัก ทั้งกลุ่มสีและเรื่องราว (Blanks, September19, 2013,vogue.com)
Richard Lindner ซึ่งเป็นศิลปินสัญชาติเยอรมัน-อเมริกัน มีชีวิตอยู่ในช่วงยุค1901-1978 มีผลงานประเภท Pop Art โดย เรื่องราวที่เล่าในภาพ เป็นภาพผู้ชายจับหน้าอกผู้หญิง และผู้หญิงเปลือยอก เป็นส่วนใหญ่ โดยใช้ชื่อภาพ “The Portrait of Woman” เมื่อผู้หญิงเห็นภาพแล้ว น่าจะรู้สึกว่า มันช่างขยี้หัวใจ ซะจริง เห็นว่าเราเป็นเพียง Sex object หรืออย่างไร?
Prada คงคิดไม่ต่างจากเราชาวหญิงหรอก เลยสื่อสารด้วยการเลือกภาพผู้หญิงในรูปแบบการ์ตูน ที่แสดงให้เห็นหลากหลายชาติพันธุ์ ประกอบลงบนเสื้อผ้าด้วยเทคนิคต่างๆ อาทิเช่น การวาด การทอ ในรูปแบบของศิลปะ Pop Art นอกจากนี้ เธอยังใช้รูปลักษณ์ (Signature) ของเธอ ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่ประสานรูปแบบ Sportswear กับ Vintage ตลอดมา เธอเห็นว่าผู้หญิง แกร่ง เข้มแข็ง จึงแทนค่า ความเข้มแข็งของผู้หญิง ด้วยสีของทหารและผ้าหนา เป็นต้น เธอได้ใช้โครงและรูปแบบเสื้อผ้า ของยุค60s ในคอลเล็กชั่นดังกล่าว

ประเด็นสำคัญ ในคอลเล็คชั่นนี้ นอกจากจะสื่อสารด้วยเทคนิคภาพวาดผู้หญิงชาติพันธุ์ต่างๆ (ทีเกี่ยวข้องกับการถูกกดขี่ทางเพศ)แล้ว ยังมีการใช้สัญลักษณ์ คือการใช้เสื้อชั้นในที่ปักจนล้นเกินพอ ซึ่งน่าจะหมายความเกี่ยวข้องกับจากภาพเขียนของ Richard Lindner นั่นเอง...ตรงนี้ต้องคิดเอง...เพราะPradaบอกว่าใครเห็นแล้วน่าจะมีการพูดถึง... และเธอบอกว่า “I want to be nasty” (Mower,September19,2013vogue.com)
แบรนด์ Prada แสดงให้เห็นถึงความพยายามสร้างสรรค์ และการค้า ที่สมดุลย์ เธอให้คำจำกัดความรูปลักษณ์ของผลงานตัวเองว่า “Ugly Cool” ด้วยความภาคภูมิใจ นับเป็นแบรนด์ที่น่าประทับใจ และมี Brand Identity ที่ชัดเจน ทั้งนี้เธอเป็น Fashion designer ตัวอย่างที่ดีด้วย
ของฝากให้นักศึกษา: การศึกษาประวัตินักออกแบบ ผลงานออกแบบ รวมทั้งกระบวนการออกแบบของนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จ เพิ่มเติมจาก ความรู้ที่ได้เรียนมาในสถาบันการศึกษา อาทิเช่น พื้นฐานการศึกษา พื้นฐานความคิด และทัศนคติความชอบของนักออกแบบ รวมทั้งและประสบการณ์แวดล้อม นอกเหนือจากประวัติทั่วไป จะทำให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้ และเข้าใจผลงานของนักออกแบบนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้การศึกษาจากแนวความคิด และ รูปแบบของเสื้อผ้าเพียงส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้ศึกษาอาจเข้าใจได้บ้าง แต่การศึกษาจากข้อมูลในหลายมิติ อาจนำความรู้ มาเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างแบรนด์ของเราได้......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น