เปิดศักยภาพการเรียนรู้ด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาประวัติศาสตร์



ถอดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

1. ผู้เล่าเรื่อง      อ.ต้นข้าว นิทัศกาญจนานนท์   คณะศิลปะและการออกแบบ
2. ผู้บันทึก        อ.บัณฑิต  เนียมทรัพย์  คณะศิลปะและการออกแบบ
3. บทบาทของผู้เล่าเรื่อง
เป็นผู้สอนในรายวิชา INT 251 ประวัติศาสตร์ตะวันตกศตวรรษที่20-21
4.  เรื่องที่เล่า    “ เปิดศักยภาพการเรียนรู้ด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาประวัติศาสตร์”
5.  ความเป็นมาของเรื่อง 
วิชาประวัติศาสตร์การออกแบบภายในตะวันตกเป็นวิชาหลักที่ปูฐานความเข้าใจความเป็นมาของการออกแบบในอดีตของตะวันตกโดยเริ่มตั้งแต่ต้นยุคคริสตกาลเรื่อยมาจนถึงยุคคลาสสิกและสมัยใหม่ แต่ละยุคมีเนื้อหาความเข้าใจอันส่งผลต่องานออกแบบของโลกปัจจุบัน เหมือนดั่งตะกอนของความรู้ในโลกอดีตที่ทับซ้อนกันเป็นชั้นหนาและส่งผลอย่างต่อเนื่อง  อิทธิพลงานออกแบบจากซีกโลกตะวันตกหลั่งไหลสู่ต่อโลกตะวันออกและเอเชียอย่างไม่หยุดยั้งนับแต่อดีต ไม่ว่าด้วยปัจจัยใดๆที่มีผลการขยายอิทธิพลทางศิลปะและการออกแบบภายในที่ปรากฏให้เห็นสะท้อนบทบาทสำคัญที่วิชาประวัติศาสตร์จะสร้างภาพในมุมกว้างเพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจอดีตอย่างลึกซึ้ง
ประเด็นสำคัญรองลงมาคือเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายในส่วนใหญ่มักถูกบันทึกหรือเล่าเรื่องเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาอื่นๆนอกเหนือจากภาษาไทยซึ่งมีเป็นส่วนน้อย การสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชานี้จึงถูกออกแบบให้ผู้สอนเล่าเรื่องผ่านบทสนทนาการเรียนรู้และกิจกรรมที่เกิดขึ้นต่างๆเป็นภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ80  ซึ่งส่งผลกระตุ้นและพัฒนาให้ผู้เรียนตระหนักถึงการค้นคว้า  การสนทนาในคลาสและนำเสนอผลงานผ่านการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ

6. วิธีการ/ขั้นตอน หรือกระบวนการที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ใช้  ผู้มีส่วนร่วม อุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน และแนวทางการแก้ไข
ในวิชา INT 251 ประวัติศาสตร์ตะวันตกศตวรรษที่20-21นี้ มีผู้สอนร่วม2ท่านคือ รองศาสตราจารย์ พิศประไพ สาระศาลิน เป็นผู้สอนหลักและเป็นผู้กำหนดแนวทางการสอนและเป็นผู้บรรยายบทเรียนในแต่ละครั้ง และอีกท่านคืออาจารย์ ต้นข้าว นิทัศกาญจนานนท์ เป็นผู้สอนร่วมซึ่งดูแลและสนับสนุนในส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกับการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งแนวทางการสอนในวิชานี้เป็นที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นในการมุ่งพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนเป็นแกนหลัก ผ่านกิจกรรมและเนื้อหาที่ประกอบไปด้วยกลยุทธ์การสอนหลายส่วนดังนี้ 
ก.กลยุทธ์ที่ให้ผู้เรียนตระหนักถึงการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งมีบทบาทต่อการเรียนรู้ในโลกปัจจุบัน ผ่านการประยุกต์ใช้ในวิชาประวัติศาสตร์ตะวันตกอันเป็นวิชาที่ผู้เรียนในสาขาออกแบบภายในระดับชั้นปีที่สองต้องเรียนรู้ โดยผู้สอนทั้งสองท่านได้บรรยายและแทรกการสอนภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ80ของการเรียนการสอน
ข.การแทรกกิจกรรมด้วยโจทย์ที่ท้าทายความสามารถการใช้ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในรูปแบบต่างๆอาทิ ให้นักศึกษานำเสนอผลงานที่ต่อยอดจากความรู้และแนวคิดทฤษฎีสู่การออกแบบชิ้นงานสร้างสรรค์และนำเสนอแนวคิดด้วยการใช้ภาษาอังกฤษภายในคลาส และยังทวีอรรถรสการเรียนรู้ด้วยการถามและโต้ตอบภายในชั้นเรียนอย่างน่าสนใจอีกด้วย
ปัญหาอุปสรรคในรายวิชาและแนวทางแก้ไข
เนื่องจากการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จะเน้นหนักไปทางเนื้อหาบรรยายที่เป็นทฤษฎีสูง จึงทำให้ภาพของกิจกรรมการเรียนการสอนที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษประสบปัญหาในบางครั้ง ผู้สอนจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบให้ต้นชั่วโมงของการเรียนในแต่ละสัปดาห์เริ่มด้วยการบรรยายและมีกิจกรรมในท้ายชั่วโมง หรือสร้างกิจกรรมเชิงทดลองให้นักศึกษานำเสนอผลงานด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยเทคนิคต่างๆที่น่าสนใจเช่น การนำเสนอแนวคิดของนักศึกษาด้วยรูปแบบวีดีทัศน์ประกอบการบรรยายหรือการแสดงละครสั้นแทรกบทสนทนาภาษาอังกฤษ ในบางกรณีที่ผู้เรียนไม่กล้าแสดงออกหรือมีทัศนคติต่อการสื่อสารภาษาเช่น ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกภายในชั้นก็มีแนวทางที่สามารถพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยเทคนิคการอัดคลิปบรรยายประกอบภาพสไลด์ในบางโจทย์ที่เกิดขึ้นของรายวิชา
7. ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
ผู้สัมภาษณ์เคยเข้าไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชานี้โดยตรงเองสองถึงสามครั้ง  สัมผัสได้ถึงการเรียนที่กระตุ้นพลังการเรียนรู้อย่างน่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นกับทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อมกัน และในแต่ละปีรายวิชานี้ได้ปรับทิศทางกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดีขึ้นในแต่ละปีอย่างเป็นรูปธรรมโดยลำดับ  

การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาและกระตุ้นการเรียนรู้ผู้เรียนในวิชาประวัติศาสตร์การออกแบบภายในตะวันตกจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่ใช่อุปสรรคที่นักเรียนไทยจะเข้าถึงได้ยากอีกต่อไป ด้วยการเปิดมิติการเรียนรู้ที่ผสานทฤษฎีทางประวัติศาสตร์และกิจกรรมการเรียนอย่างสนุกสนานเข้าด้วยกันอย่างได้ผลและแยบยล  ด้วยบทเรียนที่สร้างการสนทนาให้คิดและค้นคว้า  การแสดงละคร การพูดโต้ตอบ  การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้รับรู้และสัมผัสแนวคิดการออกแบบในอดีตด้วยการพัฒนาศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น