การสัมมนา "พุทธศาสนากับงานพุทธศิลป์"

วันที่ 21 กรกฎาคม 2556
ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ (เจ้าฟ้า) กรุงเทพมหานคร



   
 รองศาสตราจารย์จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
   ในการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากพระธรรมภาวนาวิกรม ได้มอบหมายให้คณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดงานประติมากรรมเพชรยอดมงกุฏ ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน โดยเน้นการประกวดชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ช่างฝีมือ นักศึกษา และผู้สนใจ ได้รับความรู้พระพุทธศาสนากับงานพุทธศิลป์ ในงานประกวดครั้งต่อไป ดิฉันขอกราบขอบพระคุณพระธรรมภาวนาวิกรม ที่ให้ความไว้วางใจ ขอขอบคุณศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ และท่านสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมศาสนา ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในครั้งนี้
 
   
 
พระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตรและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม

   
อาตมาภาพ ในนามของมูลนิธิร่มฉัตร ประติมากรรมถือว่าเป็นวิชาสำคัญอันหนึ่งที่บ่งบอกประวัติศาสตร์ อารยธรรมของชาติได้เป็นอย่างดี เราสามารถสืบค้นประวัติศาสตร์ได้จากประติมากรรม นับตั้งแต่นักปราชญ์ผู้มีความผู้รู้พระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ ผู้ปั้นแต่งตกตะกอนให้เกิดความรู้ให้เป็นอารยธรรม อาตมาภาพจึงมองว่าการให้เยาวชนได้รับโอกาส ให้สถานที่และองค์ความรู้ ศึกษาเล่าเรียน ความรู้ด้านอารยธรรมอันงดงาม ประวัติศาสตร์ในแต่ละยุค ประเทศไทยเราถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีศิลปะโดดเด่นไม่แพ้ชาติใด โดยดูจากประติมากรรม อาตมาเชื่อว่าการแข่งขันในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 การสัมมนาวันนี้เกิดจากการประกวดในปีที่ 2 ขอชื่นชมผู้เข้าประกวด มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีงาม มีความสามารถกล้าแสดงออก ขอขอบคุณศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ และท่านสด แดงเอียด ที่นำความรู้มา วันนี้อาตมาภาพก็ขออวยพรให้ท่านผู้ดำเนินงานและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายประสบความสำเร็จในงานสัมมนา ขอเจริญพร
 
   
 
นายสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมศาสนา
   ขอกราบนมัสการ พระเดชพระคุณพระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร ที่เคารพอย่างสูงเรียน ท่านผู้บริหารสถานศึกษา ท่านคณาจารย์ ท่านวิทยากร และท่านผู้มีเกียรติที่ร่วมในการประชุมสัมมนานี้ทุกท่านด้วยความเคารพ ผมได้รับเชิญให้มาพูด เรื่อง“ศาสนาพุทธกับพุทธศิลป์” ตามโครงการประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎของมูลนิธิร่มฉัตร ประเด็นหัวข้อที่จะพูด คือ
   1. ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรียกว่า พระธรรมวินัย (พระธรรม คือสำหรับใช้แนะนำ, อบรมและสอน พระวินัย คือคำสั่ง, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ)
   2. พุทธศิลป์ คือฝีมือทางการช่างที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า (พุทธ คือพระพุทธเจ้า / ศิลป์ คือฝีมือ,ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตร) พูดกว้าง ๆ ก็หมายถึงการสร้างสิ่งต่าง ๆ สำหรับพระพุทธเจ้าหรือ
พระพุทธศาสนาก็ได้ ถ้าพูดเจาะลึก พุทธศิลป์ คือรูปเปรียบหรือรูปแทนพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูปซึ่งเรามักใช้คำย่อเป็น ปฏิมา ปฏิมากร (ประติมา, ประติมากร) อย่างเช่น พระประธานในพระอุโบสถวัดโพธิ์ ท่าเตียนซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้อัญเชิญมาจากวัดคูหาสวรรค์ ฝั่งธนบุรี แล้วพระราชทานนามว่าพระพุทธเทวปฏิมากรฉะนั้นคำว่าปฏิมา ปฏิมากร ประติมากรรม นี้เป็นคำเดียวกัน ซึ่งตรงกับประเด็นของมูลนิธิร่มฉัตรและ
เครือข่ายที่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายได้ร่วมจิตร่วมใจในการสร้างสรรค์พัฒนาให้เกิดความก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไป
 
   ประเด็นใหญ่ 2 เรื่องที่จะพูด คือเรื่องความเป็นมาของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของพุทธศิลป์ ซึ่งต้องเริ่มต้นในประเทศอินเดีย เพราะว่าศาสนาพุทธเกิดในอินเดีย ซึ่งถือเป็นดินแดนพุทธภูมิแล้วแผ่กระจายไปยังดินแดนข้างเคียง แล้วค่อย ๆ แพร่หลายไปยังไปยังประเทศอื่นๆ ตลอดถึงดินแดนเอเชียอาคเนย์ของเรา ซึ่งผมขอรวมเรียกว่าเป็นดินแดน พันธพุทธภูมิ ส่วนเรื่องพุทธศิลป์นั้นจะพูดถึงทั้งเรื่องในประเทศอินเดียและบนแผ่นดินประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันบ้างโดยสังเขปถ้าเรายกเรื่องพุทธศิลป์ในประเทศไทยขึ้นมาพูดกันก็หนีไม่พ้น ที่จะต้องระบุชื่อสถานที่ แว่นแคว้นหรืออาณาจักรและช่วงเวลาซึ่งระบุไว้ในสมัยประวัติศาสตร์ เช่นสมัยสุวรรณภูมิ สมัยฟูนัน สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี (สมัยขอม) สมัยสุโขทัย/เชียงแสน/ล้านนา สมัยอยุธยา สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์

เพื่อกระชับเวลา ผมขอยกหัวข้อสมัยศิลปะในประเทศไทยขึ้นมาพูดตามลำดับเวลา แล้วจะย้อนกลับไปอธิบายเรื่องราวในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป ซึ่งมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธบางช่วงบางเวลาเกี่ยวข้องกับประวัติพุทธศิลป์โดยตรงอยู่ด้วยมาเล่าอธิบายประกอบควบคู่กันไป

1. สมัยสุวรรณภูมิ (ก่อนสมัยพุทธกาล – พ.ศ. 600)
   พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย เมื่อ 45 ปีก่อน พ.ศ. ถ้านับถึงวันนี้ 2601 ปีมาแล้ว การที่ได้เกิดศาสนาพุทธขึ้นในโลกถือเป็นเรื่องสำคัญต่อมวลมนุษย์ สืบเนื่องจากการที่เจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ได้ทรงอภิเษกสมรส ต่อมาก็เสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา และทรงแสวงหาโมกขธรรมอยู่เป็นเวลา 6 ปี จนพระชนมายุได้ 35 พรรษา จึงได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาลัยโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาสั่งสอนเผยแพร่หลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางเผยแผ่ไปทั่วชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียต่อมาถึงพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 218 – 260) การปฏิบัติพุทธศาสกิจของพระภิกษุสงฆ์หย่อนยาน เมื่อพระเจ้าอโศกหันมาเลื่อมใสและนับถือศาสนาพุทธอย่างจริงจังและพระองค์ได้โปรดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยของศาสนาพุทธ เมื่อปี พ.ศ. 235 นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 3 ณ เมืองปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ซึ่งเป็นราชธานีของพระองค์ หลังจากการสังคายนาพระธรรมวินัย หรือพระไตรปิฎกแล้ว พระองค์ได้จัดส่งพระสมณทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่าง ๆ ทั้งในเขตชมพูทวีปและแดนไกล แบ่งเป็น 9 คณะหรือ 9 สายผมขอยกมากล่าวในที่นี้เพียง 3 คณะหรือ 3 สายคือ
   สมณทูตสายที่ 1 มีพระมัชฌันติกะ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปแคว้นแคชเมียร์และแคว้นคันธาระ ดินแดนแถบนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ของกรีกได้เคยยกกองทัพเข้ามายึดครองได้เมื่อราว พ.ศ. 151 – 158 เดิมเรียกกันว่าแคว้นบัคเตรีย (Bactria) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียโบราณ เฉพาะแคว้นคันธาระ ต่อมาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของแคว้นมคธในสมัยพระเจ้าจันทรคุป (ต้นราชวงศ์โมริยะ) ซึ่งเป็นพระอัยยกา (ปู่) ของพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระมัชฌันติกะเป็นสมณทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทำให้พลเมืองในแคว้นคันธาระซึ่งมีทั้งคนพื้นเมืองและคนเชื้อสายกรีกที่ตกค้างอยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนานับเป็นที่แพร่หลายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาราว พ.ศ. 383 – 408 พระเจ้ามิลินทร์ (Menander) กษัตริย์แคว้นบัคเตรีย (คันธาระ) เชื้อสายกรีกได้สนทนาธรรมกับ พระนาคเสนเถระ เกิดเลื่อมใสและนับถือพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงเกิดมีการสร้างพระพุทธรูป (พุทธปฏิมา คือรูปแทนพระพุทธเจ้า) นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศิลป์ แต่มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์แบบศิลปของกรีกต่อมาสมัยราชวงศ์กุษาณะ ปกครองแคว้นคันธาระระหว่าง พ.ศ. 558 – 750 มีกษัตริย์สืบทอดต่อกันมารวม 9 พระองค์ ล้วนแต่ทรงนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด
พระเจ้ากนิษกะมหาราช (พ.ศ. 622 – 644) กษัตริย์องค์ที่ 3 ของราชวงศ์กุษาณะ ได้โปรดให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกของพุทธศาสนานับเป็น การทำสังคายนาครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 643 ณ แคว้นแคชเมียร์ โดยจารพระธรรมวินัยเป็นภาษาสันสกฤตลงในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน พระองค์โปรดให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างไกลครอบคลุมแคว้นคันธาระ แคว้นแคชเมียร์ ลุ่มน้ำสินธุ ดินแดนเปอร์เซีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เอเชียกลางตลอดถึงดินแดนประเทศจีน ได้โปรดให้สร้างวัดวาอาราม มหาสถูปและวิหารไว้อย่างมากมายมโหฬารสืบต่อมาพระเจ้าหุวิชกะ (พ.ศ. 667 – 690) กษัตริย์องค์ที่ 5 ของราชวงศ์กุษาณะ ทรงเป็นศิลปินนักออกแบบนักก่อสร้างที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของราชวงศ์กุษาณะ ทรงนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ที่สำคัญคือได้โปรดให้สร้างพระมหาเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย (โดยสร้างทับลงบนสถูปองค์เดิมของพระเจ้าอโศกมหาราช)พุทธศิลป์แบบคันธาระ ได้ชื่อตามสถานที่เกิด สร้างขึ้นโดยชาวกรีกที่ต้องการให้รูปปฏิมาแทนพระพุทธเจ้ามีรูปแบบเหมือนมนุษย์จริง ลักษณะงดงาม ดวงพระพักตร์คล้ายเทวรูปกรีกมีพระมัสสุ (หนวด) บนพระโอษฐ์ เบื้องบนพระเศียรทำเป็นเกตุมาลา (ขมวดผม) เพื่อให้แตกต่างจากรูปพระสาวก เส้นพระเกศาก็ทำเป็นลักษณะม้วนเกล้า เช่น พระเกศาของกษัตริย์ จีวรทำเป็นรอยกลีบย่นเห็นชัดดุจผ้าจริง ๆ และมักจะมีประภามณฑลรายรอบพระเศียร แต่ไม่มีลวดลาย นิยมทำปางตรัสรู้ ปางแสดงพระธรรมจักรและประทับบนบัลลังก์และจับพระดรรชนี ที่เป็นวงกลมดุจธรรมจักร เป็นต้นสมณทูตสายที่ 8 มีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ ทั้ง 2 รูป เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปยังแคว้นสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นดินแดนกว้างใหญ่ จำเป็นต้องมีพระเถระระดับหัวหน้าถึง 2 รูปเลยทีเดียวสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ที่ใหน ขณะที่นักปราชญ์ยังถกเถียงกันไม่รู้จบ ว่าศูนย์กลางตั้งอยู่ในดินแดนลุ่มน้ำอิรวดี ของประเทศเมียนมาร์ หรือตั้งอยู่ในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาของประเทศไทย
ฝ่ายเมียนมาร์ อ้างว่าอยู่แถบลุ่มน้ำอิรวดีมีเมืองโบราณสำคัญเช่นเมืองศรีเกษตร เมืองเบคตาโน เมืองฮาหลิน เมืองหงสาวดี และเมืองสะเทิม เป็นต้น
   ฝ่ายไทย อ้างว่าอยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาครอบคลุมบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำน้อย ลุ่มน้ำลพบุรี และลุ่มน้ำบางปะกงด้วย ในดินแดนดังกล่าวของไทยมีเมืองโบราณเก่าแก่จำนวนมากกว่าเมืองโบราณในประเทศเมียนมาร์ เช่น เมืองอู่ทอง เมืองพงตึก เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัวราชบุรี เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองจันเสน เมืองอู่ตะเภา เมืองดงแม่นางเมือง เมืองบ้านคูเมือง เมืองการุ้ง เมืองโกสัมพี เมืองไพศาลี เมืองซับจำปา เมืองพรหมทิน เมืองขีดขิน เมืองดงละคร เมืองบ้านไผ่ และเมืองศรีมโหสถ ฯลฯ เมืองโบราณเหล่านี้มีหลักฐานทางศิลปกรรมและพุทธศิลป์ที่เก่าแก่มากควรเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของแคว้นสุวรรณภูมิโดยเฉพาะเมืองอู่ทอง เมืองจันเสน เมืองนครปฐมโบราณ เมืองลพบุรี และเมืองศรีมโหสถ มีหลักฐานหลายอย่างมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียสมณทูตสายที่ 9 มี พระมหินทร์เถระ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเกาะศรีลังกา พระมหินทร์เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชกับพระนางวิทิสาเทวี ขณะที่เจ้าชายอโศกยังเป็นมหาอุปราชปกครองแคว้น อวันตี อยู่ ณ เมืองอุชเชนนี ต่อมาเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ ทั้งพระมหินทร์ราชโอรสและพระนางสังฆมิตตาราชธิดาได้ขอออกบวชเป็นพระภิกษุและภิกษุณีทั้ง 2 พี่น้องและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง 2 พระองค์
เมื่อพระมหินทร์ไปเกาะศรีลังกานั้น มีกรุงอนุราธปุระ เป็นเมืองหลวง มีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ซึ่งเป็นสหายต่างแดนของพระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากได้ฟังธรรมเทศนาจากพระมหินทร์แล้ว พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะก็หันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ทำให้พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเจริญรุ่งเรืองมั่นคงในเกาะศรีลังกาเป็นอย่างยิ่ง ได้มีการสร้างพุทธสถานและพุทธศิลป์ขึ้นในกรุงอนุราธปุระมากมาย เช่น มหาสถูปถูปาราม มหาสถูปรุวันเวลิ เป็นต้น ในรัชกาลนี้พระนางสังฆมิตตาเถรีได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามาถวาย ได้ทรงปลูกไว้ในกรุงอนุราธปุระและอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
หลังจากนั้นราชธานีของศรีลังกาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองโปโลนนารุวะ ราวปี พ.ศ. 1617 หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองในกรุงโปโลนนารุวะเป็นลำดับ ได้มีการก่อสร้างวัดวาอาราม สถูปเจดีย์ พุทธสถานและพุทธศิลป์ขึ้นมากมาย เมื่อพระพุทธศาสนามั่นคงก็เกิดพุทธศิลป์ที่มีความวิจิตรสวยงามตามเอกลักษณ์ของศรีลังกากระจายเต็มพื้นที่ และได้แผ่ขยายออกนอกเกาะศรีลังกา ไปยังดินแดนแว่นแคว้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแพร่หลายเป็นระลอก ๆ เป็นต้นว่าในสมัยกรุงอนุราธปุระ ได้มายังแคว้นสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะสมัยทวารวดี เราพบหลักฐานด้านศิลปกรรมและพุทธศิลป์แถบเมืองอู่ทอง เมืองนครปฐมโบราณ และเมืองศรีมโหสถ ในสมัยกรุงโปโลนนารุวะเราพบว่าศิลปกรรมและพระพุทธศิลป์แบบศรีลังกานี้ได้ให้อิทธิพลมายังดินแดนแหลมมลายูโดยเฉพาะแถวแคว้นสิริธรรมนคร (นครศรีธรรมราช) ก่อน แล้วพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งแคว้นสุโขทัย ก็ไปรับช่วงพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์มาเผยแผ่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและแพร่หลาย ทำให้ศิลปกรรมและพระพุทธศิลป์สมัยกรุงสุโขทัยเรา มีอิทธิพลของศิลปะศรีลังกาผสมผสานสืบต่อมา  
2.สมัยฟูนัน (ราว พ.ศ. 700 – 1000)
   นักปราชญ์เชื่อกันว่าแคว้นฟูนันได้รับอิทธิพลศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนาจากอินเดีย ศูนย์กลางของแคว้นฟูนันเดิมอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่เมืองอู่ทองและเมืองศรีมโหสถ ต่อมาได้ย้ายศูนย์กลางไปอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขงมีเมืองออกแก้วเป็นศูนย์กลางอยู่ระยะหนึ่งด้วย 
หากเราย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ในประเทศอินเดียในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จะพบว่าในอินเดียได้มีการนับถือพระพุทธศาสนากันแพร่หลาย กระจายไปตามแคว้นต่าง ๆ มากมาย มีการสร้างพระพุทธรูป (พุทธศิลป์) เป็นแบบเอกลักษณ์ของอินเดียเองมากขึ้น (ไม่มีอิทธิพลของศิลปะกรีกแบบศิลปะคันธาระอีกต่อไป) ดังเช่น
   1.เมืองมถุรา เดิมเป็นเมืองหลวงของแคว้นสุรเสนะ ซึ่งอยู่ทางเหนือของอินเดีย (ใกล้กรุงเดลฮีในปัจจุบัน) ได้รับแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปมาจากแคว้นคันธาระตั้งแต่ราว พ.ศ. 600 เศษ เป็นต้นมา แต่ได้พยายามใช้เทคนิคการสร้างเป็นของตัวเองโดยชาวพื้นเมือง (ไม่ต้องอาศัยเทคนิคจากพวกเชื้อสายกรีกอีกต่อไป)
   พุทธศิลป์แบบมถุรา (ตั้งชื่อตามชื่อเมือง) เป็นลักษณะศิลปะของอินเดียเอง คือ พระเกศาทำเป็นก้นหอย จีวรทำเป็นริ้วบางแนบพระองค์ พระพักตร์เป็นคนอินเดียพื้นเมือง พระรัศมีเป็นวงกลม รอบพระวรกายมีริ้วสวยงาม นิยมทำเป็นปางประทับยืนมากที่สุด พระหัตถ์ขวายกขึ้นในท่าปางประทานอภัย สังฆาฏิพาดเหนือพระอังสะด้านซ้ายเพียงด้านเดียว กรอบพระพักตร์ไม่สูงมาก พระนาสิกไม่โด่ง นิยมปางปรินิพพาน เช่น ที่สังเวชนียสถาน เมืองกุสินารา เป็นพระพุทธรูปสลักด้วยหินอ่อนซึ่งสร้างโดยนายช่างชาวเมืองมถุราชื่อ ทินนา ซึ่งยังปรากฎอยู่จนบัดนี้
   2.เมืองอมราวดี เคยเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรโบราณทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำกฤษณะ มีพุทธสถานซึ่งมีพุทธศิลป์แบบอินเดียปรากฏอยู่ 2 บริเวณ คือที่เมืองอมราวดีและที่นาคารชุนโกณทะ
พุทธศิลป์แบบอมราวดี ร่วมสมัยกับพุทธศิลป์แบบมถุราลักษณะพระเกศาทำเป็นรูปก้นหอยเหมือนกัน พระพักตร์คล้ายหรือเหมือนใบหน้าคนอินเดียใต้ ห่มจีวรเฉียงเป็นริ้ว ชายจีวรเป็นขอบหนาไม่แนบพระสรีระเหมือนสมัยมถุรา ด้านซ้ายของจีวรวกขึ้นมาพาดข้อพระหัตถ์ ถ้าเป็นพระพุทธรูปยืนจะเอียงพระโสณี (สะโพก) เล็กน้อยเขาเรียกว่า ท่าตริภังค์ พุทธศิลป์แบบอมราวดีนี้ มีอิทธิพลส่งลงมาในดินแดนของประเทศเอเชียอาคเนย์มาก ไม่ว่าจะเป็น มอญ พม่า ขอม สุมาตรา และเราพบหลักฐานพระพุทธรูปแบบอมราวดีในประเทศไทยที่เมืองพงตึกโบราณ (อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี) ที่เมืองอู่ทอง (จ.สุพรรณบุรี) และเมืองคูบัว (จ.ราชบุรี)
   ในสมัยที่พุทธศิลป์แบบมถุราและแบบอมราวดีกำลังรุ่งเรืองนั้น มีหลวงจีนสำคัญองค์หนึ่งชื่อว่า หลวงจีนฟาเหียน ได้เดินทางบกจากประเทศจีนไปยังอินเดียตามเส้นทางสายไหมแต่เดินทางกลับทางทะเล (ระหว่าง พ.ศ. 942 – 957) เป็นเวลา 15 ปี ขากลับทางเรือได้แวะพักที่เกาะชวาเป็นเวลา 5 เดือน ในจดหมายเหตุการเดินทาง ที่หลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้ มีข้ความตอนหนึ่งบอกว่า ในช่วงเวลาที่ท่านพักชั่วคราวอยู่ที่เกาะชวานั้นพบว่า ศาสนาพุทธกำลังตกต่ำ คนนับถือพระพุทธศาสนาไม่เข้มแข็ง แต่ศาสนาพราหมณ์รุ่งเรืองมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในดินแดนภาคใต้ แหลมมลายู เกาะชวา สุมาตรา มีประชาชนนับถือทั้งศาสนาพรหมณ์และศาสนาพุทธ อยู่ก่อนแล้ว  
3.สมัยทวารวดี (ราว พ.ศ. 1100 – 1600)
   มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า ทวารวดี เป็นชื่อของแคว้นโบราณตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแคว้นโบราณขนาบข้างอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือ แคว้นศรีเกษตร (ของเมียนมาร์) อยู่ทางทิศตะวันตกแถบลุ่มน้ำอิรวดี และแคว้นอีศานปุระ (ของขอม) อยู่ทางตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำโขง
หากเราย้อนกลับไปพิจารณาทางประวัติศาสตร์และศิลปะในประเทศอินเดีย ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์นับถือพระพุทธศาสนาต่อเนื่องกันยาวนาน ถึง 2 ราชวงศ์ คือกษัตริย์แห่งราชวงศ์คุปตะ และราชวงศ์ปาละ
   1.ราชวงศ์คุปตะ (ระหว่าง พ.ศ. 863 – 1083) รวมเวลา 220 ปี มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกัน 7 พระองค์ มีราชธานีอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร (เมืองปัตนะ) แคว้นมคธ กษัตริย์พระองค์แรกคือ พระเจ้าจันทรคุปตะที่ 1 กษัตริย์องค์สุดท้ายคือ พระเจ้าพุทธคุปตะ 
   พระเจ้าจันทรคุปตะที่ 1 (พ.ศ. 863 – 878) เมื่อขึ้นครองราชแล้วได้ขยายวัดนาลันทาหรือนาลันทาวิหารให้ใหญ่โตขึ้น จนกลายเป็น มหาวิทยาลัยนาลันทา 
มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ คือบ้านเกิดของพระสารีบุตรที่เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทักคะทางปัญญา ซึ่งได้นิพพานก่อนพระพุทธเจ้า (สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชได้ฟื้นฟูนาลันทาวิหาร) ต่อมากษัตริย์ราชวงศ์ต่างๆ ได้ทำนุบำรุงรักษาเป็นลำดับ จนถึงสมัยราชวงศ์คุปตะ ได้พัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัย สถานศึกษาสำคัญของโลกด้านพุทธศาสนาลัทธิมหายานเป็นหลัก มีพระสงฆ์สามเณรจากแดนไกลเดินทางไปศึกษาเป็นจำนวนนับหมื่น และได้มีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง (รวมทั้งพุทธศิลป์)กลับไปเผยแผ่ แพร่หลายในดินแดนมาตุภูมิของตน และมีพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์จากอินเดียร่วมเดินทางออกมาด้วย
หลังจากสิ้นราชวงศ์คุปตะเมื่อ พ.ศ. 1083 แล้วประเทศอินเดีย (ชมพูทวีป) ก็ตกอยู่ในภาวะวุ่นวาย เกิดความแตกแยก อยู่เป็นเวลา 120 ปี 
จนถึง พ.ศ. 1155 พระเจ้าหรรษวรรธนะ (พ.ศ. 1155 – 1198) กษัตริย์แห่งเมืองกันยากุพชะ (ใกล้เมืองลัคเนาว์ในปัจจุบันนี้) แคว้นอุตตระประเทศ ได้รวบรวมกำลังฟื้นฟูบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง ทรงอุปถัมภ์และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาจนรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เหมือนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 218 – 260) และสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราช( พ.ศ. 622 – 644)
พระเจ้าหรรษวรรธนะ ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทาอย่างจริงจังและได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนไกลในนานาประเทศ รวมทั้งแคว้นทวารวดีในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย
พุทธศิลป์แบบคุปตะ ได้แพร่เข้ามายังบริเวณดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปริมณฆล คือเมืองอู่ทอง เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัว และเมืองศรีมโหสถ ฯลฯ
มีหลักฐานว่า หลวงจีนยวนฉ่าง (พระถังซำจั๋ง) ได้จาริกไปยังประเทศอินเดียระหว่าง พ.ศ. 1172 – 1188 ได้เดินทางไปทั่วประเทศอินเดียและศรีลังกาศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกจนแตกฉานได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทาอยู่หลายปี ก่อนจะอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับประเทศจีน หลวงจีนยวนฉ่างได้พบสนทนาธรรมกับพระเจ้าหรรษวรรธนะด้วย
   2.ราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. 1203 – 1692) ปกครองอินเดียยาวนาน 489 ปี มีศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นมคธและเบงกอลมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจำนวน 18 พระองค์ และทุกพระองค์นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง องค์ปฐมราชวงศ์คือ พระเจ้าโคปาละ (พ.ศ. 1203 – 1248) และกษัตริย์องค์สำคัญอีก 2 พระองค์ คือ พระเจ้าเทวปาละ (พ.ศ. 1248 – 1296) และพระเจ้าธรรมปาละ (พ.ศ. 1308 – 1372) ทุกพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทาและทำนุบำรุงพุทธสถาน และพุทธปฏิมาทุกแห่งทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งได้มีการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน แพร่หลายไปยังนานาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างขวาง เช่น มอญ พม่า (ลุ่มน้ำอิรวดี) เกาะชวา สุมาตรา แหลมมลายู (อาณาจักรศรีวิชัย) และบริเวณดินแดนของแคว้นทวารวดี (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ด้วย
มีหลักฐานว่า หลวงจีนอี้จิง ได้เดินทางจาริกไปอินเดียระหว่าง พ.ศ. 1214 – 1238 โดยทางเรือทั้งขาไปและขากลับ ได้ศึกษาค้นคว้าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับประเทศจีน ขากลับได้แวะพักที่ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย (ปลายแหลมมลายู) เป็ยเวลา 4 ปี เพื่อแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนและศึกษาภาษาสันสกฤตเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการยืนยันว่าในยุคนั้นศาสนาพุทธลัทธิมหายานจากอินเดียได้ฟื้นตัวเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกในดินแดนศรีวิชัยและแว่นแคว้นใกล้เคียงทั้งหลาย
พุทธศิลป์แบบปาละ จึงได้แพร่หลายเข้ามาในแคว้นศรีวิชัยและแคว้นทวารวดี (ซึ่งมีพุทธศิลป์แบบคุปตะอยู่ก่อนแล้ว)และบางส่วนได้แพร่หลายขึ้นทางเหนือไปยังแคว้นหริภุญชัย (ลำพูน) และแคว้นหิรัญนครเงินยางศรีเชียงเเสน (หรือโยนกเชียงแสนโบราณ) จึงทำให้เกิดมีมรดกทางนามธรรม (แนวคิดและความเชื่อตามเรื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน) และมรดกทางรูปธรรม (คือโบราณสถาน โบราณวัตถุ ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เช่น สถูปเจดีย์ ลวดลายศิลปะ สถาปัตยกรรม ตลอดถึงพระพุทธรูปหรือพุทธศิลป์) ขึ้นมากมายในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำบางปะกง และบริเวณแถบภาคเหนือบางส่วนของประเทศไทยด้วย
นับเป็นเรื่องสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ศิลปแบบปาละได้แผ่เข้ามาทับซ้อนลงในดินแดนที่เคยมีศิลปแบบคุปตะอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง  
4.สมัยลพบุรีและสมัยศรีวิชัยตอนปลาย (พ.ศ. 1550 – 1800)
   เราได้ทราบกันแล้ว ระหว่าง พ.ศ. 1100 – 1600 ในดินแดนประเทศไทยเราโดยเฉพาะภาคกลาง เราเรียกว่าสมัยทวารวดี มีศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปสมัยคุปตะและสมัยปาละของอินเดียปรากฏอยู่ทั่วไปตลอดถึงภาคเหนือและภาคใต้ (แคว้นศรีวิชัย)
แต่ช่วงเวลาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1150 – 1800 ได้ปรากฏศิลปวัฒนธรรมแบบขอมแพร่หลายเข้ามา ขอมมาจากแถวเมืองพระนคร (Angkor) แล้วก็แพร่อิทธิพลเข้ามาในภาคกลางเป็นอย่างมาก สามารถแยกได้เป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้
   1.ช่วงแรก ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ ณ เมืองพระนคร (Angkor) ระหว่าง พ.ศ. 1553 – 1593) แม้จะทรงเป็นกษัตริย์ขอม แต่ราชสกุลเดิมของพระองค์เป็นเชื้อสาย จากแคว้นศรีวิชัยมาปกครองเมืองละโว้ (ลพบุรี) พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาของกษัตริย์ขอมก่อน เมื่อขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานเป็นอย่างมาก เช่น โปรดให้สร้างปราสาทหินพิมายเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน สถาปนาเมืองละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเคยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดีให้เป็นศูนย์รวมอำนาจของขอมในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา โปรดให้สร้างปรางค์แขกเป็นพุทธสถาน และสร้างศาลพระกาฬเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ มีศิลาจารึกหลักที่ 19 ซึ่งค้นพบที่ศาลพระกาฬนานแล้ว ระบุว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงอุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ ฤาษี นักพรต นักบวชทุกศาสนา ทรงบำรุงการพระศาสนาทั้งหมด ทรงอุทิศ พืชผล ไร่นา มาบำรุงพระภิกษุและนักบวชที่มีอยู่จำนวนมากในเมืองละโว้ (ลพบุรี) ในขณะนั้น และทรงให้สร้างเทวสถานปราสาทเขาพระวิหารทับลงบนปราสาทเดิมที่พังไปแล้วในสมัยเจนละของขอมและโปรดให้สร้างปราสาทหลายแห่งแถบภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พระองค์เองทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
   2.ช่วงที่สอง ในรัชกาล พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ครองราชย์ ณ เมืองพระนคร ระหว่าง พ.ศ. 1656 – 1688 กษัตริย์ขอมพระองค์นี้ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย (นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่) โปรดให้สร้างปราสาทนครวัด เป็นเทวสถานขนาดใหญ่มากมีศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม เพื่อเป็นสุสานสำหรับพระองค์เองในอนาคต ชาวโลกถือเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ที่สำคัญคือพระองค์ได้ทรงแผ่อำนาจลงมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โดยสถาปนาเมืองละโว้ (ลพบุรี) เป็นศูนย์กลางสำคัญ และแผ่อำนาจขึ้นทางเหนือ ยึดแคว้นเชลียง (จีนเรียก เฉินเหลียง) ตลอดลุ่มน้ำยม ซึ่งเราเชื่อกันว่า เมืองสุโขทัย น่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นี่เอง และที่บริเวณเมืองสุโขทัย เราได้ค้นพบเทวสถานหลายแห่ง เช่น ปรางค์เขาปู่จา วัดศรีสวาย และศาลตาผาแดง ตลอดถึงประติมากรรมรูปเทวรูปตามแบบศิลปะสมัยนครวัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานยืนยันว่าศาสนาพราหมณ์ได้มาเฟื่องฟูอยู่ในเมืองสุโขทัยและดินแดนใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ศิลปกรรมต่าง ๆ จึงมีอิทธิพลของศิลปขอมปรากฏอยู่ทั่วไป
   3.ช่วงที่สาม ในรัชกาล พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งครองราชย์ ณ เมืองนครธมของขอม ระหว่าง พ.ศ. 1724 – 1763 ทรงนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานอย่างเคร่งครัด พระองค์โปรดให้สร้างเมืองนครธมขึ้นใหม่เป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 1724 โดยสร้างปราสาทบายนไว้เป็นศูนย์กลางของเมืองเป็นพุทธสถาน บนยอดปราสาท 54 ยอดและยอดประตูเมืองทั้ง 4 ด้านให้สลักเป็นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน โปรดให้สร้างพุทธสถานและศาสนสถานขนาดใหญ่โตไว้มากมายในราชอาณาจักรของพระองค์ ตลอดถึงดินแดนที่ยึดครองได้ เช่น อาณาจักรจัมปา และลุ่มน้ำเจ้าพระยา โปรดให้สร้างพระพุทธรูปแทนพระองค์เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ส่งไปประดิษฐานไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ 23 เมือง ซึ่งปรากฎเรื่องราวอยู่ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ (จารึกหลักที่ 116) ขณะนี้เราได้พบชื่อเมืองตามศิลาจารึกดังกล่าว ระบุเมืองที่เกี่ยวข้องตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทยเราแล้ว คือเมืองวิมายปุระ (เมืองพิมาย) เมืองละโวทยปุระ (เมืองลพบุรี) เมืองสุวรรณปุระ (เมืองสุพรรณบุรี) เมืองศามภูกปัฏฏนะ (เมืองสระโกสินารายณ์) เมืองชัยราชบุรี (เมืองราชบุรี) เมืองศรีวิชัยสิงหบุรี (เมืองสิงห์) เมืองศรีวิชัยวัชรบุรี (เมืองเพชรบุรี) และเมืองศรีวิชยาทิบุรี (เมืองนครปฐมโบราณ) เป็นต้น
ดังนั้น เราจะพบได้ว่าใน 3 ช่วงเวลาของอาณาจักรขอมได้แผ่อำนาจทางการเมืองเข้ามาในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและปริมณฑล ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของขอมในเรื่องลัทธิความเชื่อทางศาสนาและศิลปกรรม โดยเฉพาะพุทธศิลป์แบบขอม ได้แพร่หลายอยู่เป็นเวลายาวนานและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมิใช่น้อย ซึ่งขณะนี้เรารู้จักกันดีในชื่อศิลกรรมสมัยลพบุรีนั่นเอง

5.สมัยสุโขทัย/เชียงแสน/ล้านนา
   ในแคว้นสุโขทัยซึ่งขอมเคยปกครอง ปรากฏพบศิลปกรรมและพุทธศิลป์แบบขอม (หรือสมัยลพบุรี) อยู่ทั่วไป กลุ่มคนไทยนำโดยพ่อขุนผาเมือง และ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ขับไล่ขอมออกไป ได้สถาปนาราชวงศ์พระร่วงขึ้นปกครองบ้านเมืองเป็นเวลาประมาณ 200 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 1781 – 1981) มีพระมหากษัตริย์รวม 9 พระองค์ สืบต่อเนื่องเป็นลำดับ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 3 ราชวงศ์พระร่วงได้ครองราชย์สมบัติ ระหว่าง พ.ศ. 1822 - 1843 ได้ทรงส่งราชทูตไปนิมนต์พระสังฆราชและพระเถระนักปราชญ์ของแคว้นนครศรีธรรมราชขึ้นมาที่สุโขทัย เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ซึ่งแคว้นนครศรีธรรมราชเคยได้รับพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทดังกล่าว มาจากประเทศศรีลังกาตั้งแต่อย่างน้อย สมัยพระเจ้าจันทรภาณุ ประมาณ พ.ศ. 1773 หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก นับตั้งแต่รัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์จึงได้รุ่งเรืองเป็นอย่างมากในแคว้นสุโขทัยและปริมณฑล ทำให้พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย มีวิวัฒนาการผสมผสานมากขึ้นจนพัฒนาเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สมัยสุโขทัยนั้นเราถือว่า เป็นยุคทองของพุทธศิลป์ไทย พร้อมๆกับยุคพุทธศิลป์สมัยเชียงแสนและล้านนา
มีหลักฐานจากศิลาจารึกว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดให้สร้างพระพุทธรูปอันใหญ่ พระพุทธรูปอันราม พระพุทธรูปทอง เป็นต้น
พระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำที่วัดไตรมิตรวิทยารามซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร นั้น น่าจะเป็นพระพุทธรูปทอง ที่พ่อขุมรามคำแหงมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นไว้ในวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย ดังที่ศิลาจารึกได้ระบุไว้
   สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไท) พระมหากษัติริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์พระร่วง ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1890 – 1913 ได้โปรดสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะไว้จำนวนมาก เช่นที่ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิจิตร และพิษณุโลก ที่สำคัญเช่น พระอัฏฐารถ วัดสระเกศ (เดิมอยูที่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก) พระศรีศากยมุณี วัดสุทัศน์ (เดิมอยู่ที่วิหารหลวง วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย) พระไสยาสน์ วัดบวรนิเวศ (เดิมอยู่ที่วัดพระพายหลวง เมืองสุโขทัย) พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก) พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก และพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ (เดิมอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย)ล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธรูปสำคัญ พุทธศิลป์แบบสุโขทัยที่วิจิตรสวยงามยากที่จะมีที่เปรียบปราน
สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ได้ทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุในขณะครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 1904 ในปลายรัชกาลของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 1912 พระเจ้ากือนา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายแห่งนครเชียงใหม่ (ครองราชย์ พ.ศ. 1898 – 1928) ได้ส่งราชทูตมาขอนิมนต์ พระสมณเถระ พระสงฆ์นักปราชญ์ของสุโขทัยไปเป็นพระสังฆราชแห่งนครเชียงใหม่ ทำให้พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ที่แคว้นสุโขทัยเอาแบบอย่างจากนครศรีธรรมราชมาก่อนนั้น ได้แพร่หลายในแคว้นล้านนา และทำให้พุทธศิลป์แบบสุโขทัยได้แพร่หลายเป็นที่นิยมผสมผสานกับพุทธศิลป์แบบเชียงแสน และล้านนา ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น พระพุทธรูปที่วัดบุปผาราม และวัดพระสิงห์ เป็นต้น 
6.สมัยอยุธยา 
   กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีอันยิ่งใหญ่ของคนไทย ระหว่าง พ.ศ. 1893 – 2310 รวมเวลา 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครอง 7 ราชวงศ์ รวมจำนวน 33 พระองค์ ล้วนแล้วแต่ทรงเป็นพุทธมามกะเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก มีการปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัดวาอาราม สถูปเจดีย์ และพุทธศิลป์แบบอยุธยา เป็นจำนวนมากมาย พุทธศิลป์แบบอยุธยามีความหลากหลายแต่สามารถสรุปเป็น 4 แบบ ดังนี้
   1.ศิลปกรรมดั้งเดิม ซึ่งมีร่องรอยตั้งแต่สมัยทวารวดีตอนปลายและสมัยลพบุรีพัฒนาต่อเนื่องเกิดเป็นพุทธศิลป์แบบโบราณที่เรียกกันว่า พุทธศิลป์แบบอู่ทองหรือแบบอโยธยาและแบบสกุลช่างสรรค์บุรี เป็นศิลปกรรมที่ผสมผสานของพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะมีอิทธิพลศิลปะแบบคุปตะ แบบปาละและแบบขอมที่เข้ามา 3 ระลอกดังกล่าวแล้ว
   2.ศิลปกรรมแบบขอมประยุกต์ เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น พุทธศิลป์ที่วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) โปรดให้สร้างขึ้น พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มา คือ สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) พระเจ้าทองลัน สมเด็พระรามราชาธิราช สมเด็จพระบรมราชาธิราชที ๒ (เจ้าสามพระยา) และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รวมทั้งหมด 8 พระองค์ ทรงนิยมศิลปะแบบขอมประยุกต์ในการสร้างพระปรางค์ สถูปเจดีย์ และพระพุทธรูป
รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – 2031) ตรงกับพระมหากษัตริย์ล้านนาแห่งนครเชียงใหม่ทรงพระนามว่า พระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1985 – 2030) ได้มีการศึกสงครามชิงเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเวลา 13 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2004 – 2017) ในปี พ.ศ. 2007 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตัดสินพระทัยทรงออกผนวช 1 พรรษา มีผู้ติดตามออกบวชด้วยจำนวน 2348 คน ณ วัดจุฬามณีทางทิศใต้ของเมืองพิษณุโลก พระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ก็หยุดรบและทรงจัดส่งผ้าไตรมาถวายเป็นพระราชกุศลด้วย นี่แสดงให้เห็นว่าคนสมัยก่อน เขานับถือพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ถึงเวลารบก็รบกัน ถึงเวลาหยุดก็หยุดรบเพื่อพระพุทธศาสนา ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงตีเมืองศรีสัชนาลัยกลับคืนมาเป็นของอยุธยาได้เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๗ 
อีก 3 ปีต่อมา พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) นอกเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2020 นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 ของโลก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาก็ทรงมีส่วนสนับสนุนเป็นอย่างมาก พระไตรปิฎกฉบับล้านนานี้ได้ถูกอัญเชิญไปเผยแพร่ยังบ้านเมืองต่าง ๆเช่น เมืองหลวงพระบางของลาว และเมืองหงสาวดีของพม่า เป็นต้น
   3.ศิลปกรรมแบบสุโขทัย เกิดมีขึ้นในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034 – 2072) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้โปรดให้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งมีศิลปกรรมและพุทธศิลป์เป็นแบบสุโขทัยอย่างเด่นชัด สมเด็จพระชัยราชาธิราช พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 13 ก็โปรดให้หล่อพระมงคลบพิตร มีลักษณะของพุทธศิลป์แบบสุโขทัยผสมผสานอย่างชัดเจน
   4.ศิลปแบบผสมผสาน เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2198) พระมหากษัตริย์องค์ที่ 24 ทรงหันมานิยมศิลปกรรมแบบผสมผสาน มีทั้งศิลปะแบบขอม แบบสุโขทัยและแบบท้องถิ่นของอยุธยาเอง เกิดมีพุทธศิลป์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง เช่น พระประธานในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ พระพุทธรูปทรงเครื่องในพระระเบียงวัดไชยวัฒนาราม และในวิหารวัดใหม่ประชุมพล เป็นต้น   7.สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
   สมัยธนบุรี เรามีพระมหากษัตริย์เพียงองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2310 – 2325) พระองค์ไม่ได้ทรงสร้างพุทธศิลป์อะไรโดดเด่น เพราะตลอดระยะเวลา 15 ปีในรัชกาล พม่าข้าศึกยกทัพมารุกรานตลอดเวลา เช่น ศึกบางกุ้ง ศึกอะแซหวุ่นกี่ ศึกบางแก้ว และศึกเวียงจันทร์ เป็นต้น นอกจากนั้นต้องทรงปราบก๊กต่าง ๆ อยู่หลายปี แต่พระองค์ก็ไม่ทรงลดละการทำนุบำรุงและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปปราบก๊กเจ้านครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพระฝาง เมื่อศึกสงบ ก็โปรดให้ยืมพระไตรปิฎกทั้งจากเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสวางคบุรี มาคัดลอกเพื่อจะได้สังคายนาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป ดังคำกลอนที่เชื่อกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ที่ว่า  
“อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่พระศาสดาสมณะพระพุทธโคดม
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี สมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม ถวายบังคมรอยพระบาทพระศาสดา”  
8.สมัยรัตนโกสินทร์
   เรามีพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 9 รัชกาล ล้วนแล้วแต่ทรงเป็นพุทธมามกะเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325 – 2352) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้โปรดให้ค้นหารวบรวมพระพุทธรูปต่าง ๆ ในเขตเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และพิษณุโลก จำนวนหนึ่งพันกว่าองค์มาบูรณะซ่อมแซมให้มีพุทธลักษณะสมบูรณ์ทางพุทธศิลป์ แล้วทรงถวายไปตามพระอารามต่าง ๆ ทั่วพระนคร ทั้งพระอารามที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่ เช่น พระพุทธรุปทองคำ วัดไตรมิตรวิทยารม พระประธานวัดสุวรรณาราม พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม พระพุทธรูปในพระวิหารและพระระเบียงคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ฯนั้นโปรดให้อัญเชิญมาจากวัดคูหาสวรรค์ (วัดศาลาสี้หน้า) แล้วพระราชทานนามว่าพระพุทธเทวปฏิมากร ที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่คือพระศรีสรรเพชญ์ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ซึ่งถือเป็นต้นแบบพุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ มีลักษณะพิเศษคือนำพุทธศิลป์แบบอู่ทองและแบบอยุธยาผสมกัน
นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2331 ทรงโปรดให้มีการชำระพระไตรปิฎก ณ วัดมหาธาตุ นับเป็นการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 ของโลก 

รัขกาลที่ 1 ทรงมีพระราชปณิธานดังพระราชนิพนธ์ที่ว่า
“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี”

   พระบาทสทเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปไว้มากมาย รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นเอกอัครศิลปิน โปรดให้สร้างประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามทรงปั้นพระพักตร์โดยฝีพระพักตร์ของพระองค์เอง และพระประธานในพระอุโสถเก่าวัดชัยพฤกษมาลา ก็เป็นตัวอย่างพุทธศิลป์ในรัชกาลของพระองค์ รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้หล่อพระพุทธรุปขนาดใหญ่ขึ้นหลายองค์ เช่น พระประธานในพระอุโบสถวัดราชนัดดา พระประธานในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญวัดสุทัศน์เทพวราราม พระประธานในพระอุโบสถวัดนางนอง วัดราชโอรสาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ นนทบุรี เป็นต้น นอกจากนั้นในพระอุโบสถวัดพระแก้วมรกต เราจะเห็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง 2 องค์ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าพระแก้วมรกต คือพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 ทรงหล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธศิลป์ประจำกรุงรัตนสินทร์ได้ 40 ปาง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 ทุกพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงทำนุบำรุง พุทธสถานวัดวาอารามและสร้างพุทธศิลป์ขึ้นเป็นการผดุงรักษาแบบอย่างศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาชองชาติไทยไว้ให้มั่นคงจำนวนมากทั่วราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน ทรงฟื้นฟูและสืบทอดพุทธศิลป์ไทย โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ ในพระราชพิธีมงคลสำคัญ ๆ และพระราชทานไปประดิษฐานไว้ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นพุทธศิลป์ที่นำเอาแบบสุโขทัยและแบบอยุธยามาผสมผสานอย่างลงตัวเหมาะสมสวยงาม เช่น พระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ณ บริเวณพุทธมณฑล เป็นต้น
   เราจะเห็นได้ว่าความเป็นมาของพระพุทธศาสนาที่ได้กล่าวมาโดยย่อนี้ เป็นเรื่องที่ควบคู่กับวิวัฒนาการของพุทธศิลป์ตั้งแต่ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ผ่านมาเป็นลำดับ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็ต้นมาทรงเป็นพุทธมามกะ เป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ทั้งปฏิบัติทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างพระพุทธรูป รักษาพระพุทธรูป ปกป้องพระพุทธรูป ฟื้นฟูพุทธศิลป์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างมณฑป ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธปฏิมา เพื่อความศรีสง่าของแผ่นดินไทย เราเป็นคนไทยต้องภาคภูมิใจในสิ่งเหล่านี้ ภาคภูมิใจในชาติ ในพระพุทธศาสนา ในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ได้ทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สืบทอดมาเป็นมรดก จนถึงวันนี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้รู้ ตามดูให้ทั่ว เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนบอกลูกหลานในเรื่องดินแดนอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาของเรา จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สมแล้วที่เกิดมาเป็นชาวพุทธ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องพุทธศิลป์ เพื่อรักษาสืบทอดกันต่อไปในอนาคต
 
   
 ศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน
   กราบนมัสการ พระธรรมภาวนาวิกรมที่เคารพอย่างสูง และผู้มีเกียรติผู้เข้าสัมมนาทุกท่าน 
   ท่านอดีตอธิบดีกรมการศาสนา สด แดงเอียด ได้พูดถึงเส้นทางศาสนาพุทธฝ่ายหินยานที่ผ่านกาลเวลาสองพันหกร้อยหนึ่งปีจนกระทั่งมาถึงวันนี้ เส้นทางที่เราฟังแล้ว 
การสืบทอดพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องง่ายต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิต จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ แล้วเราก็พบว่าผู้ปกครองทั้งหลายที่ผ่านมานี้ ที่นำเอาพระพุทธศาสนามาเป็นหัวใจของการปกครองนั้น เพราะถือว่าการปกครองประเทศชาตินั้นไม่ใช่แค่การปกครองแค่ร่างกายเท่านั้น การที่จะให้พสกนิกรและคนทั้งหลายอยู่ดีกินดี มีความสุขนั้น ความเชื่อ ความศรัทธา ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นที่ควบคู่กันมาในการดำรงชีวิตของเราทั้งหลายจนกระทั่งทุกวันนี้ อย่างที่ท่านอดีตอธิบดีได้กล่าวว่า ศาสนากำลังจะเลือนไปจากจิตใจมนุษย์มากขึ้นทุกที แล้วเราก็จะเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมีแต่ความยุ่งยาก ความทุกข์เข็ญเกิดขึ้นแทบจะทั่วโลก ซึ่งไม่เว้นแม้แต่เมืองไทยของเราที่กำลังประสบกับความวุ่นวายอยู่ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคิดว่าเป็นวันมงคลของชีวิตในตัวผมเองรวมทั้งท่านทั้งหลายด้วย ที่ได้มาฟังท่านอดีตอธิบดี ได้มาเล่าให้เราฟังทำให้เรารู้สึกว่าพระพุทธศาสนาที่รอดพ้นมา เป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้และเป็นที่พึ่งทางจิตใจของเรา ให้มากขึ้นเพราะว่าเป็นสิ่งที่นำความร่มเย็นเป็นสุข นำสันติสุขมาสู่ตัวท่านเอง รวมทั้งสังคม สามารถขยับขยายไปถึงสังคมโลกได้ ความเชื่อมโยง ความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นต้นเหตุของการสร้างสรรค์พุทธศิลป์ ให้เกิดขึ้นมา
หัวข้อที่ผมจะพูดเรื่องของการสร้างสรรค์พระพุทธรูปในยุคนี้ มีเหตุผลหนึ่ง ในวงการศิลปะของเรานี้ มีหลายครั้งที่กลุ่มศิลปินได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วพระองค์ท่านก็มีพระราชดำรัส ถามว่า ในยุคอื่นๆมีรูปแบบทางศิลปะแล้วแต่ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ มีหรือยัง นี้เป็นคำถามที่ทำให้เกิดความรู้สึกของคนที่สร้างสรรค์งานเป็นอย่างมากเพราะว่าเราทำๆกันไป เราได้ระลึกหรือยังว่าในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงยุคปัจจุบันเรามีรูปแบบที่ชัดเจนหรือยัง ในช่วงเวลาที่พระองค์ท่านครองสิริราชสมบัติมา 60 กว่าปีมาแล้วดังนั้นด้วยความสำนึกอันนี้ สอดคล้องกับโครงการเพชรยอดมงกุฎของพระธรรมภาวนาวิกรม ว่าเราควรจะสร้างแนวความคิด สร้างความเชื่อ ความศรัทธาในยุคนี้ ให้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้เพื่อเป็นตัวแทนแห่งยุคที่เราอยู่นี้ เพราะว่ายุคอื่นๆมีรูปแบบของตัวเองอยู่แล้ว ในยุคนี้ที่วิถีชีวิตสังคมสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก เพราะฉะนั้นรูปแบบของพระพุทธรูปที่จะออกแบบควรจะเป็นรูปลักษณ์อย่างไร 

   การสร้างสรรค์ กระบวนการสร้างสรรค์ ผลงานเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อความศรัทธาที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปที่สามารถมองเห็นได้ สัมผัสได้ ในเรื่องของการเรียนการสอนที่เราเรียนกันอยู่นี้ เริ่มต้นจากการรับรู้รากเหง้าของการสร้างสรรค์คือมนุษย์มีร่างกายและจิตวิญญาณ มนุษย์เป็นศูนย์กลางของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความศรัทธา วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ต่างๆมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นทั้งนั้น ดังนั้นถ้าเราเข้าใจความเป็นมนุษย์ เราจะเข้าใจสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ ขั้นตอนของการสร้างสรรค์ สิ่งแรกที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การรับรู้ที่มาของการรับรู้ การรับรู้ของมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่ามี 6 ทางเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับรู้หลายคนอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญนัก แต่ในความจริงนั้นคือหัวใจสำคัญทำให้เกิดข้อมูลเกิดเรื่องราวขึ้น ถ้าเกิดเรานึกถึงตัวเราเมื่อเราเติบโต ตอนเด็กๆเราก็ไม่รู้เมื่อเราโตขึ้นการรับรู้จากสิ่งแวดล้อม การศึกษา การเรียนรู้ การรับรู้การทำการสร้างสรรค์งาน มันค่อยๆพอกพูนขึ้นมา แล้วความรู้ไม่ใช่อยู่ๆเกิดขึ้นโดยฉับพลันเหมือนวัตถุสิ่งก่อสร้างที่สร้างได้ภายใน 10 วัน 1เดือนหรือ 1 ปีแต่ความรู้นั้นจะค่อยๆเพิ่มเติมค่อยๆสะสม ค่อยๆงอกงามขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งเราจะเกิดความรู้สึกนึกคิด เกิดข้อมูลในตัวของเราขึ้นมาเทียบกับในยุคนี้ คอมพิวเตอร์ต้องมี Memory การถ่ายทอดก็ถ่ายทอดตาม Memory ที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นการรับรู้ต้องสร้างขึ้นมาให้มากที่สุด ทั้งในทางลึกและทางกว้าง เมื่อเกิดแรงบันดาลใจจากการรับรู้แล้วก็เกิดแนวความคิดขึ้น มีบางอย่างที่ผ่านเรามาหลายอย่าง ผ่านมาก็ผ่านไปมีเพียงบางอย่างที่ผ่านเราไปโดยไม่ได้สัมผัส และมีบางอย่างที่มันได้เข้ามาแล้วมันก็อยู่ในตัวเราเกิดเป็นแนวความคิดขึ้น ตรงนี้เมื่อเทียบในทางศาสนาพุทธกับขันธ์ 5 “รูป” ปรากฏขึ้นก่อน มี “เวทนา” การรู้ว่าอ่อน แข็ง นิ่ม “สัญญา” รู้ว่ามันคืออะไร “สังขาร” เมื่อรู้แล้วเกิดการปรุงแต่งขึ้นความรู้สึกนึกคิด แล้วออกมาเป็น “วิญญาณ” เมื่อเราได้รับรู้ในส่วนที่ลึกซึ้งขึ้น ก็เกิดเป็นแนวความคิดในใจของเราแล้วปรากฎเป็นมโนภาพ เรารู้สึกอย่างเดียวไม่พอต้องมีมโนภาพในตัวเราด้วย มโนภาพเกิดเป็นภาพเรื่องราวแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นการพูด การทำให้ปรากฏออกมาสองอย่างนี้เป็นหัวใจสำคัญมาก ส่วนแรกแนวความคิดเป็นนามธรรมที่เราไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ ต้องมีการสื่อความหมายสื่อความรู้สึกให้แพร่หลาย เกิดความรับรู้เชื่อมโยง ความผูกพัน พื้นฐานสื่อสารในทางวิจิตรศิลป์คือจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม กวีนิพนธ์ ฟ้อนรำและร้องเพลง เป็นเครื่องมือเป็นรูปธรรม ในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดเป็นรูปธรรมที่เราสามารถสัมผัสได้ กระบวนการที่เราสามารถถ่ายทอดออกมาอันแรกที่ง่ายสุดเป็นการวาดเส้น การร่าง การวางโครง แบบร่าง เป็นที่ยอมรับว่า รูปแบบแรกยังไม่สามารถถ่ายทอดที่ซับซ้อนแต่รูปแบบแรกจะเป็นบันไดที่สามารถทดสอบว่าตรงกับสิ่งที่เรารู้สึกนึกคิดหรือไม่ ในการสร้างสรรค์ผลงานไม่มีผิดมีถูกแต่เป็นการเพิ่มเติมเข้าไปจนสามารถถ่ายทอดในสิ่งที่เป็นนามธรรมในความรู้สึกนึกคิดจนชัด สามารถทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ในการสร้างสรรค์งาน เมื่อเรามีกรอบความคิดความรู้ระหว่างการทำ สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นสู่ชิ้นงานอื่นๆ อีกแนวความคิด ผ่านเทคนิควิธีในการทำงาน ออกมาเป็นผลงานเมื่อเป็นผลงานแล้วต้องกลับมาดูอีกว่าบกพร่องตรงไหน เมื่อทบทวนดูแล้วก็เกิดแนวความคิดใหม่ขึ้นมา ซึ่งงอกงามจากแนวคิดเดิมสู่กระบวนการในการทำงานสู่ผลงาน ประสบการณ์ในการทำงานจะเกิดสิ่งใหม่ รวมทั้งวิถีชีวิตที่เราอยู่ ที่เราสัมผัสจากการเรียนรู้ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ จะไม่หยุดนิ่ง งานการสร้างสรรค์คือการหมุนเวียน มีการเรียนรู้ ประสบการณ์คือข้อมูลที่สามมารถสร้างศิลปะได้ทั้งชีวิต คือกระบวนการย่อๆ ใช้เวลาพอสมควร การศึกษาในหลักสูตรเรียนพื้นฐานความรู้ต้องศึกษาแนวปรัชญาความคิดอื่นๆ และสุดท้ายจะต้องรวบรวมข้อมูลแนวความคิด ฝีมือความสามารถทดลองสร้างสรรค์ตามแนวความคิด เพื่อให้ความคิดความสามารถผูกพันเป็นเอกภาพ กระบวนการในการสร้างสรรค์ผลงาน ความคิดที่เป็นนามธรรมผลงานที่เป็นรูปธรรม ศิลปะที่ดีต้องเกิดจากคนที่มีความชัดเจน ดำเนินการตามกระบวนการ ผลงานที่ยิ่งใหญ่อย่างพระพุทธชินราช เรามองเห็นถึงความเมตตา ศิลปินต้องควบคุมตั้งแต่รูปทรง ในรูปแบบและความหมาย ดังนั้นเราสามารถถ่ายทอดได้อย่างที่เราต้องการจะเป็นที่อยู่ของจิตวิญญาณได้ การทำงานไม่ใช่แค่ความคิด ต้องใช้ความรู้สึกด้วยความรู้สึกทางสุนทรียภาพ ความงาม ความศรัทธา การสร้างสรรค์ทางพระพุทธรูปขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ปั้น ผู้ปั้นต้องเข้าใจในความเป็นพุทธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพื่อสื่อความหมายของความเป็นพุทธะ ผู้เห็นผลงานรู้สึกถึงความงาม ความสงบนิ่ง ความสันติสุข ความเมตตา ดวงตาที่มองลง คือ การเน้นเฉพาะบางเรื่อง คิดที่จะพูดจะทำเกิดความสงบนิ่งเวลาที่เราเข้าไปกราบพระพุทธรูป เราเห็นทั้งรูปแบบของท่าน เห็นความรู้สึกของความเป็นพุทธะ ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า มีรูปแบบที่หลากหลายมาก จริงๆ แล้วในทางรูปแบบพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ เป็นคนอินเดีย มีการห่มจีวร รูปแบบกิริยาที่ออกมา ผู้ปั้นคิดตาม 45 ปีที่พระองค์เสด็จออกเผยแพร่พระพุทธศาสนา พระอิริยาบทมี 4 รูปแบบ ยืน เดิน นั่ง นอน รูปแบบส่วนใหญ่ คือ ปางมารวิชัย สื่อความหมายของความเป็นพุทธะอย่างชัดเจน ชนะกิเลสทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง ปางมารวิชัยคือการชำระล้าง ความรู้สึก ความคิด ที่ห่อหุ้มจิตใจอยู่ออกไปให้พบกับจิตเดิมแท้ที่บริสุทธ์ประภัสสรที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางสมถะวิปัสสนากรรมฐาน 


   หลวงปู่มั่นกล่าว ธรรมะในปุถุชนเป็นของปลอมเสมือนคนใส่แว่นตาที่เลนส์เป็นสีๆ มองเห็นโลกตามสีของแว่นเมื่อถอดแว่นออกจิตที่สะอาดหมดจดทำให้เราได้รับรู้ความเป็นจริง โลกนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยงแท้ มันหมุนเวียนอยู่เสมอ เมื่อเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้เราปล่อยวาง ขั้นตอนของสมถะกรรมฐาน เริ่มจากวิตกสู่วิจารณ์ เมื่อวิตกวิจารณ์หมดไปก็จะเกิดความปิติ ความสุข เอกะคตาจิต อุเบกขา คือรู้แต่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง อริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นรูปแบบสิ่งที่เป็นเนื้อหาลึกๆ รู้จักเหตุสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุ แนวทางที่ทำให้เหตุหมดไป ลงมือทำให้เหตุหมดไป ศิลปินสามารถถ่ายทอดโดยองค์ประกอบศิลป์ที่มีทั้งรูปแบบและความหมายเราจะได้พระพุทธรูปที่เกิดขึ้นใหม่
  
 
   
  
พระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตรและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม

   สิ่งที่ศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน พูดอาตมารู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณมากสรุปได้ว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธรูป การปั้นให้ดีต้องรู้ธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลายเส้นของศิลปะท่านใด พระพุทธรูปที่ศิลปินได้บรรจงลวดลายออกมาได้ถูกต้องเป็นอริยะธรรมขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นพระพุทธรูปที่สื่อถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์เกิดจากพระพุทธรูปถูกต้องตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ศิลปินสื่อออกมาให้เราสัมผัสถึง สื่อถึงได้ ท่านก็ศักดิ์สิทธิ์ ท่านก็สื่อถึงคนทุกคนได้ การที่เราจะปั้นหรือสร้างสิ่งเหล่านี้ออกมาต้องเป็นผู้มีคุณธรรมในพุทธศาสนา วันนี้ต้องขอขอบคุณศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน และคุณสด แดงเอียด เป็นอย่างสูงและขอขอบคุณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ เจ้าฟ้า ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ และขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายที่ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายในครั้งนี้
 
   
 คณะกรรมการผู้จัดงานฯ ขอเผยแพร่บทความนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น และขอสงวนสิทธิ์ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลงหรือนำข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อการโฆษณา หรือวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่ประโยชน์ทางการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น