บาตรบุ ที่บ้านบาตร แถวบ้านนายศร ศิลปะบรรเลง

เสียง โป๊กๆๆ เป๊กๆๆ ดังออกมาจากชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย หรือคนทั่วไปเรียกว่า “บ้านบาตร” ชุมชนเก่าแก่แถวถนนบำรุงเมืองแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่ปรากฎหลักฐานที่มาอย่างแน่ชัด มีเพียงเสียงจากชาวบ้านที่เล่ากันปากต่อปากว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ.2310 โดยประมาณ


ลุงอมร กำลังเชื่อมประสานรอยตะเข็บบาตร


ชาวบ้านกำลังทำความสะอาดบาตรปั้มเก่าที่รับซื้อมา บาตรปั้มคือบาตรที่ปั้มขึ้นมาจากแผ่นโลหะ ราคาจะถูกกว่าบาตรบุ
                         ป้าอารี สายรัดทอง ชาวบ้านบาตรเล่าให้ฟังว่าตนเองนั้นเกิดที่นี่ คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพทำบาตรพระ ก็ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำบาตรพระตั้งแต่เด็กๆ หลังจากพ่อแม่เสียป้าก็เป็นคนสืบทอดต่อมา โดยป้ายึดอาชีพทำบาตรพระมา 60 ปีแล้ว เริ่มทำตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2400 กว่าๆ ก็จะส่งขายให้พระหรือไม่ก็ชาวต่างชาติ สมัยเมื่อ 20-30 ปีก่อนชาวต่างชาติจะนิยมซื้อเป็นของที่ระลึกเพราะของที่ทำจากมือมันมีคุณค่ามาก จากเหล็กแผ่นเดียวประกอบกันขึ้นเป็นรูปทรงกลมเป็นบาตรพระได้ บาตรที่บ้านบาตรนี้มีหลายรูปทรงหลากหลายและตั้งชื่อรูปทรงแตกต่างกันไปตามลักษณะของบาตรไม่ว่าจะเป็น “ทรงไทยเดิม” “ทรงตะโก” “ทรงมะนาว” “ทรงลูกจัน” “ทรงหัวเสือ” ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้เกิดจากบรรพบุรุษสืบทอดกันมาต้องแต่สมัยอยู่ที่อยุธยา ก่อนจะย้ายมาที่นี่ ซึ่งที่อยุธยายังมีคลองชื่อ “คลองบ้านบาตรพระ”
                       ชาวบ้านบาตร ยังคงเอกลักษณ์การทำบาตรด้วยมือมาจนถึงปัจจุบัน
                  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านบาตร คือศาลพ่อปู่ ซึ่งมีลักษณะภายนอกเหมือนกับศาลพระภูมิทั่วไปแต่รูปเคารพภายในจะเป็นเหมือนแท่งไม้หรือแท่งเหล็กสองแท่งตั้งเคียงคู่กันจะมีไม้เป็นคันชักเพื่อสูบลมจากภายนอกเข้าไปในเตาชาวบ้านเรียกว่า “เตาสูบ” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเผาบาตรในสมัยก่อน เครื่องมือทำมาหากินเหล่านี้ชาวบ้านบาตรถือว่าเป็นสิ่งสักดิ์สิทธิ์มีครูบาอาจารย์ต้องเคารพกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อการทำบาตรเปลี่ยนไปไม่ได้ใช้เตาสูบแล้ว แต่ชาวบ้านบาตรยังคงให้ความเคารพ ประจวบกับเรื่องเล่าตำนานพ่อปู่ที่สืบทอดกันมาว่า มีคนเคยฝันเห็นชายรูปร่างสูงใหญ่นุ่งขาวห่มขาว เกล้าผมมวย จึงได้ปั้นขึ้นรูปองค์พ่อปู่โดยใช้ดินเหนียวจากป่าช้า จนมีเรื่องเล่าถึงอิทธิของพ่อปู่ว่า เมื่อครั้งเกิดเหตุไฟไหม้บ้านดอกไม้ที่มีอาชีพทำดอกไม้ไฟบริเวณใกล้เคียงกับบ้านบาตร พลุไฟได้ลอยมาในบ้านบาตร มีหญิงชาวจีนซึ่งเป็นคนนอกชุมชนได้เห็นคนแก่นุ่งขาวห่มขาวเกล้าผมมวยถือพัดอันใหญ่ยืนอยู่บนหลังคาค่อยพัดไฟมิให้เข้ามาไหม้ในบาตรบาตร ทำให้ชาวบ้านบาตรเชื่อถึงความขลังและความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น
                             
เสียงทุบบาตรยังคงดังกึกก้องอยู่ในบ้านบาตรตราบที่ลมหายใจของชุมชนนี้ยังคงอยู่
อ้างอิง
จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๖
http://www.banbatt.com
ผู้เขียนบทความ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น